บูรพาจารย์อาวุโสผู้ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์
อดีตคณบดีคนแรกของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๗) ท่านเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งคณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งแยกจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เพื่อสนองนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัยที่จะให้มหาวิทยาลัยมีทุกสาขาครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เป็นผู้ร่วมสร้างข้อสอบมาตรฐานของมหาวิทยาลัย เพื่อทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ (Placement Test) และได้สร้างตำราเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
 
ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ซึ่งได้ผลักดันให้คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ แยกเป็นสองคณะ รวมทั้งผลักดันให้เกิดโครงการ Ex-MBA ท่านดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์เป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี ได้รับการยกย่องในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ตำแหน่งที่ภาคภูมิใจอีกตำแหน่ง คือ อธิบดีกรมป่าไม้และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุขสถาน
เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่จบจาก Ranchi University โดยทำวิทยานิพนธ์ด้านการผลิตและ สรีรวิทยาการผลิตอ้อย ท่านได้ทำงานสอน วิจัย และส่งเสริมเกี่ยวกับอ้อยมาโดยตลอด ท่านได้ตั้งชมรมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และจดทะเบียนเป็นสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่นิสิตปี ๓ - ๔ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งทำให้นิสิตเกิดความรักสามัคคี มีความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาตนเองและสังคม
 
ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๑) และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผนพัฒนา (พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๓) เป็นหนึ่งที่บุกเบิกงานวิจัยทางสัตวบาล โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์โคและกระบือให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อส่วนรวม ทำให้เกิดสถานีวิจัยและศูนย์วิจัยทางสัตวบาลหลายแห่ง เช่น ทับกวาง กำแพงแสน เป็นต้น เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งได้รับรางวัลและโล่เกียรติคุณต่างๆ ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับพระราชทานโล่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการโคเนื้อ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จำนงค์ สมประสงค์
ผู้ริเริ่มการสอนวิชาแรงงานสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก และริเริ่มโครงการฝึกอบรมแรงงาน เป็นการสร้างแรงงานสัมพันธ์อันนำไปสู่การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์แพร่ขยายไปทั่วทุกย่านอุตสาหกรรม จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งสหกรณ์ออมทรัพย์โรงงาน และเป็นผู้ริเริ่มโครงการจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ในโรงงานเป็นฐานรากในการจัดตั้ง นอกจากนี้ท่านยังได้จัดตั้งโครงการธนาคารหมู่บ้าน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ อีกชื่อหนึ่ง
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดรุณา สมบูรณกุล
อดีตผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยส่งเสริมและหาทุนให้บรรณารักษ์ไปศึกษาต่อ ฝึกงาน และดูงานห้องสมุดในต่างประเทศ เพื่อที่จะได้นำความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาห้องสมุด ท่านได้ก่อตั้งชมรมห้องสมุดการเกษตรแห่งประเทศไทย เป็นผู้ร่วมจัดตั้งศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติและศูนย์กระบือนานาชาติ และเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้พัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพบรรณารักษ์มาตลอด จนได้รับการคัดเลือกเป็นบรรณารักษ์ดีเด่น จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๕๓๙
 
ศาสตราจารย์นภา โล่ห์ทอง
ผู้บุกเบิกการสอนหลักสูตรจุลชีววิทยา โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรนี้ ท่านได้เขียนตำราในสาขาดังกล่าวทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ได้รับเชิญให้เป็นผู้ร่วมเขียนตำราเรื่อง "จุลชีววิทยาของอาหารหมัก" นอกจากตำราเรียนแล้วยังมีบทความทางวิชาการ และอื่นๆ ท่านได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ระดับอุดมศึกษา โดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และรางวัลวิจัยดีเยี่ยมสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยาประจำปี ๒๕๓๐ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
 
รองศาสตราจารย์ ดร.บรรพต ณ ป้อมเพชร
อดีตรองอธิการบดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอารักขาพืช การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีในองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น สหประชาชาติ SEAMEO เป็นต้น จากความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวทำให้ท่านได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย อาทินักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๐ สาขาเกษตรศาสตร์ และชีววิทยา และบุคคลดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐
 
ศาสตราจารย์ ดร.บุญธรรม จิตต์อนันต์
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๒๓) ผู้อำนวยการส่งเสริมและฝึกอบรม (พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๓๘) ท่านเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งแผนกวิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตร และสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมในระยะเริ่มแรก ได้ร่วมก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย และคณะศึกษาศาสตร์ ได้พัฒนางานส่งเสริมและเผยแพร่ อาทิ โครงการฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับประชาชนที่ต่อเนื่องยาวนานจนได้รับรางวัลหน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม (ด้านการศึกษา) จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยได้รับพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
รองศาสตราจารย์บุญสม สุวชิรัตน์
อดีตคณบดีและรองอธิการบดี ๒ สมัย ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านวิชาการและวิชาชีพออกแบบตึกหลายแห่งในมหาวิทยาลัย เช่น ตึกฟิสิกส์ ศูนย์เรียนรวม และอาคารที่ภูมิใจมากที่สุด คือ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ แนวทางการบริหารของท่านคือ การสั่งงานต้องถูกต้อง มีการวางแผนการดำเนินงานและประเมินผลหากไม่ถูกต้องจะรีบแก้ไข ท่านเป็นผู้ที่ริเริ่มให้มีนิสิตโควตาพิเศษที่กำแพงแสน ในสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและวิศวกรรมชลประทาน และริเริ่มโครงการนิทรรศการ เรื่อง บนเส้นทางวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจัดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
 
รองศาสตราจารย์ประชุม ทัพภะสุต
อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษา เป็นผู้วางรากฐานด้านหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนเป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างเป็นสากลและทันสมัยทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาไทยใน โดยการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอนที่เป็นชาวต่างประเทศมาสอนนิสิต และให้มีการเรียนภาษาอังกฤษในห้องปฏิบัติการ (sound lab) เป็นผู้ริเริ่มการเรียนการสอนภาษาไทย เขมร บาลีและสันสกฤตฯ จนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่าน คือครู ผู้เป็นปูชนียบุคคลอันแท้จริง
 
อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด
อธิบดีกรมชลประทาน ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ อาจารย์พิเศษวิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ท่านได้ช่วยงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างดีตลอดมาจนได้รับการยกย่องให้เป็นนิสิตเก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๙ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพระราชดำริมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาน้ำ ดินและป่าไม้เสมอมา
 
ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี
คณบดีคณะเกษตร (พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๗) และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ (พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๓) ท่านเชี่ยวชาญเรื่ององุ่น และวิจัยเรื่องไม้ผลเขตหนาวจนประสบผลสำเร็จ โดยเผยแพร่ไปยังชาวเขาจนกลายเป็นไม้ผลที่ปลูกกันทั่วไปในที่สูงของประเทศไทย ด้านการเรียนการสอนนั้น ท่านได้เปิดสอนวิชาใหม่ๆ ขึ้นหลายวิชา อาทิ การปลูกองุ่น การปลูกไม้ผลเขตหนาว และวิชาฮอร์โมนกับพืชสวน ท่านได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรและชีวภาพ ใน พ.ศ. ๒๕๓๖ และรางวัลชีวิตที่ท่านภาคภูมิใจ คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (พ.ศ. ๒๕๓๑) และทุติยจุลจอมเกล้า (พ.ศ. ๒๕๓๕) ซึ่งเป็นผลจากการได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในงานมูลนิธิโครงการหลวง
 
ศาสตราจารย์เพ็ญศรี กาญจโนมัย
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ชีวิตของท่านผูกพันอยู่กับการสอน การวิจัย การเขียนตำราและบทความ กิจกรรมพิเศษอื่นๆ ของคณะที่ท่านเป็นผู้ริเริ่ม เช่น เป็นที่ปรึกษาชมรมประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งการเรียนและเรื่องส่วนตัวให้แก่นิสิต พร้อมกับเป็นที่พึ่งทางใจของนิสิตได้ ท่านมีแนวทางในการสร้างคนให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนาการต้องเตรียมคน
 
รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์
รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน ระหว่างพ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๒๙ ท่านเป็นคนแรกของประเทศไทยที่สามารถนำเมล็ดกล้วยไม้ที่ยังไม่แก่มาเพาะให้งอก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์กล้วยไม้อย่างมากมาย ท่านเป็นผู้สนับสนุนให้มีการจัดงานเกษตรแฟร์หรือเกษตรแห่งชาติคงอยู่ตลอดมา เพราะเกิดคุณประโยชน์ต่อนักเรียน นิสิตและบุคคลทั่วไป ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรกล้วยไม้ บางเขน และเป็นนายกสโมสรกล้วยไม้ บางเขน (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑) และสิ่งที่อุทิศเวลาให้มากที่สุด คือ การเป็นกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
ศาสตราจารย์วิทย์ ธารชลานุกิจ
คณบดีคณะประมง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๓๔ ท่านได้ทำวิจัยเพาะพันธุ์ปลาจีน จนสำเร็จเป็นรายแรกถึงขั้นกระทำเป็นการค้าและเผยแพร่สู่เกษตรกร สมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย จึงมอบประกาศนียบัตรให้เป็นรางวัล งานวิจัยชิ้นเอก คือ เรื่องการเพาะเลี้ยงและคุณภาพของอาร์ทีเมียร์หรือไรสีน้ำตาล ที่ใช้เป็นอาหารโดยตรงสำหรับสัตว์น้ำวัยอ่อน ผลจากการวิจัย ทำให้การเลี้ยงสัตว์น้ำขยายตัวทำผลผลิตส่งขายต่างประเทศ ทำเงินตราเข้าพันล้านบาทต่อปี
 
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว
จบปริญญาเอกด้านนิเวศวิทยาป่าชายเลนจาก Michigan State University ในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นคนแรกของประเทศไทย ได้ทำงานเกี่ยวกับด้านป่าชายเลนมาโดยตลอดทั้งงานสอน งานวิจัย งานนโยบาย ด้านงานสอนหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับป่าชายเลน ท่านจะเป็นผู้สอนเกือบทุกมหาวิทยาลัยที่มีวิชาเกี่ยวกับเรื่องนี้รวมถึงระดับโรงเรียน เพราะเห็นว่าถ้านิสิตหรือนักเรียนเข้าใจและเห็นความสำคัญของป่าชายเลนแล้วผู้เรียนกลุ่มนี้เองจะเป็นกำลังและขยายผลในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในอนาคตต่อไป
 
ศาสตราจารย์สมเพียร เกษมทรัพย์
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ท่านได้วิจัยไม้ดอกจนสามารถนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นไม้ตัดดอกการค้าจนประสบความสำเร็จ ได้แก่ เบญจมาศ แอสเตอร์ เยอบีรายุโรป แกลดิโอลัส และดาวเรือง ที่โดดเด่นที่สุดคือดาวเรืองพันธุ์ส่งเสริม เกษตรกรได้ขนานนามดาวเรืองพันธุ์นี้ว่า ดาวเรืองเกษตร ที่ภูมิใจที่สุดคือ ได้รับมอบหมายให้จัดทำของที่ระลึกพระมหาวิริยาธิคุณานุสรณ์ ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก ๗๒ บาท ถวายเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ วิราพร
อดีตหัวหน้ากองการเจ้าหน้าที่ เป็นประธานคณะทำงานพัฒนาการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ท่านริเริ่มให้มีการปฐมนิเทศและจัดทำคู่มือการบริหารงานบุคคล และรับผิดชอบการจัดทำหนังสือในฐานะประธานกรรมการบรรณาธิการ กองบรรณาธิการและที่ปรึกษา นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ร่างคำกราบบังคมทูล คำสดุดีเกียรติคุณผู้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คำปราศรัย ตลอดจนจัดทำหนังสือสูจิบัตรงานประราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นต้นมา
 
ศาสตราจารย์ ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน
หัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยาคนแรก ริเริ่มการเขียน และเรียบเรียงตำราปฐพีวิทยาเบื้องต้น และมีการปรับปรุงเป็นระยะๆมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ นับว่าเป็นตำราทางปฐพีวิทยาเบื้องต้นที่มีอายุยาวนานที่สุดของประเทศ ท่านได้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาของเกษตรกร คือ การประดิษฐ์คิดค้นชุดตรวจสอบปุ๋ยเคมีแบบรวดเร็ว ทำให้ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยาจากสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ท่านยังเป็นหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันทัด โรจนสุนทร
ผู้พัฒนาการสอนวิชาที่เกี่ยวกับดินขึ้นในภาควิชาปฐพี ทำแผนที่ดินของประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิจัยดีเด่นของสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และแก้ไขดินเปรี้ยว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นกรรมการวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัย และเสนอให้สร้างสระว่ายน้ำ ขนาด ๒๕ เมตร โดยขอพระราชทานพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์มาเป็นชื่อสระ นอกจากนั้นท่านได้เป็นประธานในการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ทางธรณีวิทยาให้ UNESCO และกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นพจนานุกรมทางธรณีวิทยาฉบับแรกของประเทศไทย
 
รองศาสตราจารย์สายสนม ประดิษฐดวง
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร (พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๓๒) เป็นผู้ร่างหลักสูตรขั้นดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การอาหารได้สำเร็จ ท่านได้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการผลิตรำข้าวและการใช้ประโยชน์ โดยทำการศึกษาหาสูตรผลิตเป็นอิมัลชั่นไข เพื่อเคลือบผักผลไม้ป้องกันการสูญเสียน้ำ ส่วนงานวิจัยด้านแป้ง นั้นได้คิดวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มอาหารได้ คือ ฟิล์มที่บริโภคได้จากแป้งพัฒนาต่อเนื่องจนได้เป็นภาชนะบรรจุคงรูปได้จากแป้ง จนมาเป็นผลิตภัณฑ์ KU Green และได้ขอจดสิทธิบัตรเป็นฉบับแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนเพื่อไปทำการผลิตในเชิงพาณิชย์
 
รองศาสตราจารย์ ดร.สำอาง ศรีนิลทา
อดีตรองอธิการบดีด้านการวางแผนและพัฒนา เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาหมวดวิชาปฐพีวิทยาขึ้นในแผนกเกษตรศาสตร์ และเขียนคู่มือปฏิบัติการปฐพีวิทยาเป็นเล่มแรกในเมืองไทย ท่านเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาเขตกำแพงแสน สร้างความเข้มแข็งให้วิทยาเขตในด้านการวิจัยและบริการวิชาการแก่สังคมเป็นอันมาก ท่านได้รับเกียรติให้เข้าปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ด้านวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขประชา วาจานนท์
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนาคณะให้เจริญก้าวหน้าเปิดภาควิชาใหม่ๆ เพื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย ความภูมิใจของท่านสิ่งหนึ่ง คือ การได้เป็นสมาชิกสภาคณาจารย์รุ่นแรก โดยได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ท่านยังได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่ชมรมต่างๆ ของนิสิต เช่น ชมรมดาบ ชมรมดนตรีไทย จัดตั้งกองทุนพระพิเนตสุขประชา เพื่อเป็นรางวัลแก่นิสิตสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาอินทรีย์เคมีในแต่ละภาคการศึกษา เพื่อส่งเสริมการศึกษาของนิสิตเรียนดี
 
ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน
อดีตรองอธิการบดีประจำวิทยาเขตกำแพงแสน และรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา วิทยาเขตบางเขน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชนคือ วิทยาลัยโยนก ท่านมีความสามารถหลายด้านเป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติควบคู่กันไป มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปรับปรุงพันธุศาสตร์และพันธุ์พืช ตำราพันธุศาสตร์ที่ท่านเขียนขึ้นเป็นตำราภาษาไทยเล่มแรก นานาชาติรู้จักท่านในนามของบิดาแห่งข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ ๑ และท่านได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๑๗
 
รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา ศรีเพ็ญ
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ท่านมีส่วนช่วยงานวิจัยหลายเรื่อง เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับทางด้านนิเวศวิทยาไม้ยางนา งานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน งานวิจัยของบึงมักกะสัน โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานโครงการบัณฑิตยุคใหม่ จัดอบรมและสัมมนานิสิตปีที่ ๑ เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยพร้อมไปด้วยคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของประเทศและสังคม คือ เก่ง ดี มีสุข โครงการนี้ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก และเป็นต้นแบบให้กับสถาบันต่างๆ ในเวลาต่อมา
 
ศาสตราจารย์ ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์
อดีตหัวหน้าภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทปและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชาการพันธุศาสตร์ในประเทศไทย ผลักดันให้มีการจัดตั้งชมรมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ท่านได้ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธ์ถั่วเหลือง จนได้พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคราสนิม คือ พันธุ์ "ดอยคำ" นับว่าท่านเป็นสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่วิชาพันธุศาสตร์อย่างแท้จริง
 
ศาสตราจารย์ ดร.โสภิณ ทองปาน
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ท่านเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการเงินกู้และโครงการพิเศษต่างๆ ของคณะ ทำให้คณะนี้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านวิชาการ นิสิต อาจารย์และบุคลากร คุณสมบัติดีเด่นของท่านคือ เป็นสุภาพบุรุษ อ่อนน้อม ถ่อมตัว ไม่โอ้อวด เรียกได้ว่า ท่านเพียบพร้อมด้วย ความรู้ คู่คุณธรรม ลึกซึ้งด้านเศรษฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และสังคมศาสตร์
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารย์ นวลอินทร์
อดีตผู้ช่วยอธิการบดีในโครงการพิเศษ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๓๒ เป็นคณะทำงานโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชนบทเกษตร ที่จังหวัดลพบุรี โดยนำนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกค่ายทำการสำรวจเขียนแผนที่ เป็นวิทยากรอบรมวิชาชีพและพัฒนาจิตใจ เยาวชนและเกษตรกรในพื้นที่ เป็นประธานโครงการอบรมวิชาชีพและพัฒนาจิตใจประชาชนในโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (โครงการอีสานเขียว) ที่จังหวัดสกลนครและนครพนมในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นประธานคณะทำงานพัฒนาพื้นที่วิทยาเขตลพบุรี ที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง ท่านยึดมั่นในการบำเพ็ญตนเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์และถือว่าการรักษาศีลและการประพฤติดีประพฤติชอบเสมอมา
 
 
   1  |  2  |  3  |  4  |  5  |  6