ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ มีนามเดิมว่า เจริญ สมานวนกิจ เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2439 ที่จังหวัดลพบุรี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนข้าราชการพลเรือน สอบแข่งขันชิงทุนกรมป่าไม้ ไปศึกษาวิชาป่าไม้ที่โรงเรียนเบอร์มาฟอเรสต์ ประเทศพม่า เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการในกรมป่าไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยเจ้ากรมป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2484 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองค้นคว้าของป่า ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493 จนถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494

ในปี พ.ศ. 2478 จัดตั้งโรงเรียนป่าไม้ขึ้นที่จังหวัดแพร่ เป็นที่อบรมสั่งสอนกุลบุตรไทยในวิชาการป่าไม้ทั้งในทางทฤษฎีและ ทางปฎิบัติ สำหรับจะได้เป็นพนักงานป่าไม้ในภายหน้า โรงเรียนแห่งนี้ได้เจริญมาเป็นลำดับ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวนศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2481 และเข้ารวมเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น โรงเรียนวนศาสตร์โอนจากสังกัดกรมป่าไม้เข้ามาเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือคณะวนศาสตร์ในปัจจุบัน นอกจากนั้นท่านยังได้ส่งเสริมด้านประชาสัมพันธ์ให้มีนิตยสาร ชื่อ วนศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2479 เพื่อเป็นหนังสือเผยแพร่กิจการและความรู้ในการป่าไม้ ในระหว่างพนักงานป่าไม้ด้วยกันและแก่บุคคลภายนอก

ในปี พ.ศ. 2493 เมื่อดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ได้มี กิจการกับต่างประเทศทั้งการส่งข้าราชการ ไปประชุมในการประชุมระหว่างประเทศ ไปศึกษาและดูงาน และมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือแนะนำงาน ทางวิชาการในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2494 มีประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่องกำหนดอัตราค่าภาคหลวงไม้สัก ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2494 กรมป่าไม้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและคณะรัฐมนตรี ได้ให้สัมปทานป่าไม้แม่อิง จังหวัดเชียงราย แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมอบหมายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้จัดทำ และแบ่งผลกำไรให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณปีละ 3 ล้านบาท ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2496 เป็นต้นไป จะเห็นได้ว่าท่านเป็นผู้ที่ทั้งอุทิศเวลาและบุกเบิกงานป่าไม้ ตลอดจนสนใจสร้างโรงเรียนป่าไม้เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ และพัฒนากิจการป่าไม้ของประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศมาโดยลำดับ ทำให้กิจการป่าไม้ไทยทันสมัยจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังจากที่โอนมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วนั้น มีความสนใจเรื่องการเลี้ยงผึ้งและเปิดเป็นวิชาการสาขาใหม่ขึ้นในแผนกเกษตรศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสั่งผึ้งพันธุ์ต่างประเทศจากประเทศออสเตรเลียและอิตาลี มีนิสิตเข้าศึกษา 42 คนและบุคคลทั่วไปสมัครเรียนกว่าร้อยคน เจ้าหน้าที่วิชาการเลี้ยงผึ้งได้จัดพิมพ์เอกสารคำชี้แจงเรื่องการเลี้ยงผึ้ง 2 ครั้งๆ ละ 1,000 เล่ม มีผู้สนใจติดต่อขอมาจนหมดสิ้น ในครั้งสุดท้ายได้จัดการพิมพ์หนังสือคู่มือการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งศาสตราจารย์หลวงสมานวนกิจได้เรียบเรียงขึ้น มีประชาชนติดต่อขอซื้อตลอดมา และท่านได้ส่งบทความไปออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงในการเลี้ยงผึ้ง 5 ครั้ง และในการแสดงวิทยาศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ทางมหาวิทยาลัยก็ได้นำผึ้งไปร่วมแสดงด้วย ในการเลี้ยงผึ้งครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทางสาขาวิชาสวนผลไม้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากที่ได้ทำการเลี้ยงผึ้งแล้ว ปรากฏว่าผลไม้ติดลูกมากกว่าแต่ก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งส้มโอ ติดผลเพิ่มขึ้นจาก 290 ผล เป็น 743 ผล สรุปว่า ทั้งนี้ผึ้งน่าจะมีส่วนช่วยเหลือให้ส้มติดผลดกขึ้น

 
  1 | 2 | 3 | 4 | 5