ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยและโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อและได้รับอนุปริญญาวนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2497 ปริญญา B.S. (วนศาสตร์) Oregon State University ในปี พ.ศ. 2500 ปริญญา M.S. (วนศาสตร์) จาก Oregon State University ในปี พ.ศ. 2502 และ Ph.D. (นิเวศวิทยาป่าไม้) จาก University of Washington สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2504 และเดินทางกลับมารับราชการในภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในตำแหน่งอาจารย์ประจำ

ท่านเป็นคนแรกในสาขาวิชาวนศาสตร์ของประเทศไทย ทีได้รับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งทีมงานวิจัย โดยได้ชักชวนอาจารย์หลายท่าน ทั้งจากคณะวนศาสตร์และคณะกสิกรรมและสัตวบาลในสมัยนั้น ร่วมกันทำงานด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ ซึ่งในขณะนั้นยังมีการศึกษาวิจัยทางด้านนี้น้อยมาก และพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับป่าประเภทต่างๆ ที่ได้ดำเนินการวิเคราะห์วิจัย ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาเหล่านี้

ท่านได้ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะ วนศาสตร์ และตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้วางรูปแบบการศึกษาและการวิจัย การบริหารงาน และการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างมากมาย เช่น ได้เริ่มจัดวิชานิเวศวิทยาป่าไม้ และวิชาสถิติเพื่อการวิจัยทางป่าไม้ เข้าไว้ในหลักสูตรปริญญาตรีทางวนศาสตร์ ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศหลายประเทศเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัยทางป่าไม้เพิ่มขึ้นอย่างมากยิ่งเป็นครั้งแรก เป็นบุคคลที่สำคัญในการดำเนินการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาโทในสาชาวิชาวนศาสตร์ ได้วางแผนอัตรากำลังทางวิชาการและจัดหาทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณวุฒิของคณาจารย์เป็นจำนวนมาก และเป็นเจ้าหน้าที่หลักผู้หนึ่งในการจัดเตรียมรายละเอียด ติดต่อเจรจาและประสานงานต่างๆ ในโครงการเงินกู้ธนาคารโลกเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นต้น ผลงานต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้า และเป็นที่ยอมนับอย่างกว้างขวางในวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ท่านเขียนตำราและเอกสารผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้เริ่มร่วมดำเนินการและให้การสนับสนุนงานวิจัยที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อประเทศชาติเป็นจำนวนมาก เช่น งานวิจัยด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การถางป่าทำไร่เลื่อนลอย นิเวศวิทยาของป่าดิบแล้งและป่าชายเลน การปลูกพืชอเนกประสงค์ การบำรุงพันธุ์ไม้ป่า การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม เป็นต้น และได้ดำเนินการจัดระบบงานและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยหลายประการ เช่น การจัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นในประเทศไทย การกำหนดให้ประเทศไทยเป็นสถานฝึก อบรมวิชาการด้านการบำรุงพันธุ์ป่าไม้สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน การกำหนดให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำในบริเวณท้องที่ภาคเหนือ และกำหนดแนวทางและช่วยงานวิจัยระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นภายใต้โครงการช่วยเหลือของสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ด้วยความสามารถและผลงานในการบริหารและวิชาการของท่านนั้น เป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงได้รับเชิญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณฑิตของ Royal Swedish Academy of Engineering Sciences ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสหประชาชาติ

 
  1 | 2 | 3 | 4 | 5