หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2448 ที่ตำบลประตูสามยอด อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เริ่มการศึกษาในโรงเรียนมัธยมวัด เทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2457 เรียนจบได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมบริบูรณ์ เมื่ออายุ 17 ปี และสอบชิงทุนได้รับทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ได้เข้าศึกษาที่ St. Peter's School, York, England เมื่อ พ.ศ. 2466 แล้วจึงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ City and Guild's Engineering Collage, London University เมื่อ พ.ศ. 2468 สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโททางวิศวกรรมโยธา ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยนี้คือ A.C.G.I., B.Sc. ทางวิศวกรรมโยธา D.I.C. (Advanced Diploma of Imperial Collage) และปริญญาโท M.Sc. ทางคอนกรีตและไฮโดรลิกส์ ในปี พ.ศ. 2472 ได้เข้าฝึกงานในด้านวิศวกรรมโยธา ในกรมโยธาธิการของอังกฤษอีก 1 ปี จึงกลับประเทศไทย

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เริ่มเข้ารับราชการในกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2473 จนเกษียณอายุราชการ รวมเวลารับราชการ 36 ปี และเมื่อเข้ารับราชการในกรมชลประทานเพียง 18 ปี ก็ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2492 และได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาอีกเป็นเวลานานถึง 18 ปี ท่านได้อุทิศกำลังกาย กำลังใจและกำลังสติปัญญาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสริมสร้างกิจการชลประทานของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ

ท่านเป็นผู้รักงานเป็นชีวิตจิตใจ มีความสุขเมื่อเห็นผลสำเร็จของงาน งานจึงก้าวหน้าไปด้วยดีโดยลำดับ กิจกรรมต่างๆ ที่ท่านได้ปฏิบัติมา ทำให้เป็นที่ประจักษ์ถึงคุณความดี จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี 2 สมัย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2499 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2501 เป็นที่ปรึกษาของธนาคารโลก รองประธานองค์การ International Commission on Irrigation and Drainage เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

ในช่วงที่ท่านเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะที่จะต้องดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงและขยายงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เกษตรกลางบางเขนขึ้น ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2510-2514) ที่จะขยายงานให้รับนิสิตได้ 5,000 คน และในระยะ 5 ปีที่สอง (พ.ศ. 2515-2519) ให้รับนิสิตได้ 10,000 คน ตามมติของสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น ที่ว่า

1. ความต้องการนักวิชาการในระดับปริญญาตรีสาขาต่างๆ ของวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตรจะมากกว่า 400 คน ต่อปี

2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรจะขยายงานเพื่อรับนิสิตให้ได้เกิน5,000 คน ในอนาคต

3. จัดหาสถานที่เพื่อรับแผนการขยายงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519)

เพื่อให้การขยายงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินไปตามมติของสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดังกล่าว ท่านได้พิจารณาจัดซื้อที่ดิน ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งทำให้มีวิทยาเขตกำแพงแสนและความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

 
  1 | 2 | 3 | 4 | 5