ศาสตราจารย์ คุณชวนชม จันทรเปารยะ เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2462 วุฒิการศึกษาของท่าน สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2488 ได้รับประกาศนียบัตรเทคโนโลยีอาหารจาก FAO Food Technology Trainy Center ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2509 และวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาคหกรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2526

ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2489 ตำแหน่งอาจารย์ตรี แผนกเคมี คณะเกษตร พ.ศ. 2489 ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณใน พ.ศ. 2523 คือ ศาสตราจารย์ชั้นพิเศษ ระดับ 9 หัวหน้าแผนกวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร รวมระยะเวลารับราชการ 35 ปี

ในปี พ.ศ. 2510 ท่านได้รับเชิญในโครงการของมูลนิธิฟอร์ดไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ผู้เยี่ยมปฏิบัติการที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยแห่งประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อบรรยายวิชาการเก็บรักษาอาหาร และทำการค้นคว้าหาตำรับใช้พืชสีเขียวเป็นอาหารเพื่อหาแหล่งโปรตีนราคาถูก เป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาชนบท และส่งเสริมการเกษตรทั้งในเอเชียและยุโรป รวม 11 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2514-2515 ช่วยงานโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา และช่วยงานในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวไร่ หุบกะพง เกี่ยวกับเรื่องการทำผลิตภัณฑ์จากพืชผลเกษตร ในปี พ.ศ. 2515 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร พ.ศ. 2516 รักษาการแทนในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายนิสิต ระหว่างปี พ.ศ. 2499-2519 ดำรงตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครองนิสิตหญิง ติดต่อกันถึง 20 ปี พ.ศ. 2521 เป็นกรรมการพิจารณาร่างหลักสูตรคหกรรมศาสตร์ของโรงเรียนมัธยมประสม ร่างหลักสูตรปริญญาตรีครุคหกรรมศาสตร์ของวิทยาลัยครุ กรมการฝึกหัดครูและของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2538 ได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาคหกรรมศาสตร์

ผลงานที่ท่านทำให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำให้มหาวิทยาลัยมีวิวัฒนาการและชื่อเสียงทางด้านคหกรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบันนี้ คือ เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานการเรียนการสอนในวิชาคหกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนวิชาดังกล่าวในระดับปริญญา โดยในระยะแรกมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรวิชาผลิตภัณฑ์เกษตรและถนอมอาหาร ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน ท่านได้รับมอบหมายให้ช่วยทำคำบรรยายภาษาไทย จนต่อมาหลักสูตรดังกล่าวได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรวิชาเคหศาสตร์ ท่านได้รับการสนับสนุนจากท่านอธิการบดีในสมัยนั้น และความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการจากองค์การช่วยเหลือด้านต่างประเทศของสหรัฐอเมริการ (MSA) ให้ไปศึกษาและฝึกงานด้านนี้ เมื่อกลับมาก็เป็นอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับคหกรรม ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาคหกรรมศาสตร์ตลอดมาจนเกษียณอายุราชการ

นอกจากนี้ ยังได้ทำงานด้านเคหเศรษฐศาสตร์และโภชนาการให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งยังอุทิศตนให้กับสังคมในหน้าที่ต่างๆ ได้แก่ ประธานฝ่ายเศรษฐกิจและอาชีพของสภาสตรีแห่งชาติ ประธานฝ่ายคหกรรมศาสตร์ของสภาสตรีแห่งชาติ (2 สมัย) นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย (2 สมัย) นายกสมาคมเคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย (2 สมัย) และประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำรงตนอย่างมีคุณธรรม เสียสละ อุทิศตนให้กับวิชาชีพเพื่อสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีตลอดมา

 
  1 | 2 | 3 | 4 | 5