ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ชวนิศนดากร วรวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน
พ.ศ. 2466 ณ บ้านเริงวรรณ ถนนสีลม กรุงเทพฯ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนผดุงดรุณี
และย้ายไปเข้าโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จนจบมัธยมศึกษา (มัธยมปีที่
6) หลังจากนั้นได้มาเข้าเรียนที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2485 และจบการศึกษาได้รับปริญญากสิกรรมและสัตวบาล
(เกียรตินิยม) ใน พ.ศ. 2489 นับเป็น มก. รุ่นที่ 1
เมื่อเรียนจบ ท่านไปทำฟาร์มที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปลูกผักเมืองหนาว
เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอกเป็นหลัก ทำฟาร์มประมาณ 2 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก
ต่อมาหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น)
มาเยี่ยมที่ฟาร์มและทาบทามให้รับราชการเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ท่านจึงตัดสินใจรับงานดังกล่าว
เริ่มมาทำงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.
2492 เป็นต้นมา จนเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2526
ใน พ.ศ. 2495 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ส่งท่านไปศึกษาและฝึกงานด้านการเลี้ยงโคนม
ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดินทางกลับได้นำโคนมพันธุ์เจอร์ซี่เข้าประเทศเป็นครั้งแรก
เป็นการเริ่มต้นการทดลองเลี้ยงโคนมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำให้เกิดการเรียนการสอนวิชาการเลี้ยงโคนม
และผลิตภัณฑ์นมของภาควิชาสัตวบาลนับตั้งแต่นั้นมา
ใน พ.ศ. 2502 ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ Oregon State University สหรัฐอเมริกา
จบการศึกษาได้รับปริญญา Master of Science in Dairy and Animal Husbandry
ใน พ.ศ. 2503 นอกจากเป็นผู้นำเข้าโคนมพันธุ์ต่างประเทศมายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ดังกล่าวแล้ว ยังได้ริเริ่มงานไว้อีกหลายเรื่อง เช่น เป็นหัวหน้าแผนกสัตวบาล
(ภาควิชาสัตวบาลในขณะนี้) เป็นคนแรกใน พ.ศ. 2498 เป็นผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อาหารสัตว์
และห้องสมุดภาควิชาสัตวบาล เป็นผู้ริเริ่มการใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตร
และวัสดุเหลือทิ้งมาทดลองใช้เป็นอาหารสัตว์
ด้านการเรียนการสอนได้ให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทุกครั้งที่เข้าห้องสอน
จะเตรียมการสอนเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นนักอ่านและค้นคว้าหาความรู้ที่ทันสมัยมาสอนอยู่เสมอ
ทุกวิชาที่สอนจะเขียนเป็นตำราขึ้น นับว่าเป็นตำราภาษาไทยทางด้านสัตวบาลเล่มแรกๆ
ทีเดียว นอกจากตำรายังมีเอกสารประกอบการสอนวิชาต่างๆ อีกหลายวิชา ตลอดจนเอกสารประกอบการฝึกอบรมประชาชน
ตำราและเอกสารเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยที่สำคัญ
ท่านเป็นผู้ริเริ่มการฝึกงานของนิสิต ระยะแรกติดต่อกรมปศุสัตว์ และหัวหน้าสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง
จังหวัดสระบุรีให้ฝึกงานแก่นิสิต หลังจากนั้นได้ติดต่อขอที่ดินจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อก่อตั้งสถานีฝึกนิสิตขึ้นที่อำเภอศรีราชา
จังหวัดชลบุรี สถานีหรือไร่ฝึกนิสิตที่ศรีราชา (ขณะนี้คือวิทยาเขตศรีราชา)
นี้ได้เริ่มทำการฝึกนิสิตได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2498
เป็นผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดการประชุมวิชาการสาขาสัตวบาลขึ้นเป็นครั้งแรก
ทำให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงและแก้ปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย
และเป็นเหตุที่ทำให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องมาทุกปี จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
งานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การริเริ่มก่อตั้งสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นในปี
พ.ศ. 2497 และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเป็นคนแรก |