ศาสตราจารย์ ดร.บุญ อินทรัมพรรย์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2450 ที่ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ สำเร็จชั้นมัธยม 8 จาก โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เตรียมแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนของกระทรวงเกษตราธิการ ด้วยการสอบแข่งขัน เพื่อรับพระราชทานทุนการศึกษาของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (เจ้าฟ้ามหิดล-อดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) เพื่อไปศึกษาวิชาบำรุงและรักษาสัตว์น้ำในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา ในคณะเกษตร และได้รับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยาประมง) ฝึกหัดงานกับกรมประมงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ Doctor of Humane Letters จาก National College of Education, Evanston, lllinois สหรัฐอเมริกา และปริญญาการประมงดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตำแหน่งหน้าที่ราชการ พ.ศ. 2473 ปลัดกรม ขั้น 2 กรมรักษาสัตว์น้ำ กระทรวงเกษตราธิการ พ.ศ. 2473 หัวหน้าสถานีบำรุงพันธุ์ปลาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ กรมรักษาสัตว์น้ำ พ.ศ. 2476 เจ้าพนักงานการประมง กรมเกษตรและการประมง พ.ศ. 2481 หัวหน้ากองการประมง กรมเกษตรและการประมง พ.ศ. 2485 เลขานุการกรม กรมการประมง พ.ศ. 2486 รักษาการในหน้าที่ กรมประมง พ.ศ. 2487 - 2504 อธิบดีกรมประมง พ.ศ. 2486 - 2505 คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2505 - 2513 หัวหน้าฝ่ายบริหาร ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียและตะวันออกไกล ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพฯ พ.ศ. 2513 - 2516 ผู้อำนวยการสถานวิจัยภาวะแวดล้อมและนิเวศวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2518 - 2519 สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2519 - 2520 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ผลงานของท่านที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่าน เป็นผู้วางแผนและตั้งคณะประมงในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องความช่วยเหลือทางวิชาการจากองค์การต่างประเทศเกี่ยวกับอาหารและเกษตร เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคณะกรรมการระหว่างกระทรวงทบวงกรมของสมาคมอาสา เป็นผู้ประสานงานตามสัญญามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยฮาไวอิ เป็นผู้ร่วมเจรจาจัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านอาร์ทีเมีย (ไรสีน้ำตาลหรือไรน้ำเค็ม อาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ) ระหว่างรัฐบาลไทยถึงรัฐบาลเบลเยี่ยมอันเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์อาร์ทีเมียแห่งชาติ หรือศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอาหารสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปัจจุบัน นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้เขียนโครงการบำรุงพันธุ์ปลาให้แก่คณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อจะได้มีการอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ นำความรู้ไปให้แก่ลูกเสือและประชาชน โครงการนี้ องค์การ เอ.ไอ.ที ของสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือ เป็นผู้เสนอโครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสาให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จน รัฐบาลได้เห็นชอบให้เป็นโครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสางานของชาติ

งานวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่และมีประโยชน์ทั้งต่อการเรียนการสอนและบุคคลทั่วไปที่สนใจคืองานพิมพ์ที่เป็นภาษาไทย 15 เรื่อง และภาษาอังกฤษ 9 เรื่อง และที่เป็นบทความภาษาไทยที่ท่านเขียนประมาณ 40 เรื่อง ส่วนมากพิมพ์ในวารสารการประมง เรื่องที่ดีเด่น คือ เรื่องเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายวรรคตอน, เรื่อง "ปลาสลิด", บทความเทอดพระเกียรติ "สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก : พระประทีปแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย" พิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์คล้ายวันสถาปนากรมประมง บรรจบครบรอบ 54 ปี ในเดือนกันยายน 2524

 
  1 | 2 | 3 | 4 | 5