|
อาคารหอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รับโอนจากวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมเกษตร กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่ตั้งของอาคารอยู่แนวแกนเดียวกันกับทางเข้าประตู ๒ ด้านถนนงามวงศ์วาน
ถัดไปทางทิศตะวันออก มีอาคารเรือนเขียว (เรียกชื่อตามสีเขียวของอาคาร)
เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงรื้อถอนจากสถานีทดลองบางกอกน้อยมาสร้าง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ได้รับมอบในโอกาสใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจากวัสดุที่รื้อถอนมาสร้างเรือนเขียวมีความทรุดโทรมอยู่เดิมแล้ว
เมื่อใช้สอยต่อมาอีกนานถึง ๔๐ ปี จึงได้รื้อถอนออกไป
อาคารหลังนี้เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ดั้งเดิม ชั้นบนเป็นห้องเรียน
๒ ห้อง คือห้องทางด้านทิศตะวันออก ใช้เป็นห้องบรรยาย ห้องทางด้านทิศตะวันตก
ใช้เป็นห้องปฏิบัติการ ชั้นล่างเป็นห้องเรียน ห้องปฏิบัติการเคมี ห้องเก็บเครื่องชั่ง
ถ้าจะกล่าวถึงความสำคัญของตึกหลังนี้ก็คือ นอกจากจะเป็นห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว
ยังเป็นที่เก็บเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นของหายาก ราคาแพงเพราะกำลังอยู่ในภาวะสงคราม
และอยู่ในระหว่างการโจมตี ทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เว้นแต่ละวัน
จึงต้องทาสีพรางตึกทั้งหลัง ต่อมามีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์
ทางวิทยาศาสตร์ที่มีค่าหาได้ยากต่าง ๆ ไปเก็บรักษาไว้ที่สถานีทดลองบางกอกน้อยเพื่อความปลอดภัย
แต่การณ์กลับปรากฎว่าตลอดภาวะสงคราม บางเขนไม่เคยถูกโจมตีเลย ส่วนสถานีรถไฟบางกอกน้อยนั้น
ถูกโจมตีเสียหายยับเยิน
ชาวเกษตรอาวุโส เรียกอาคารหลังนี้ด้วยชื่อต่าง ๆ กัน ได้แก่ ตึกเคมี
เพราะชั้นล่างมีห้องสอนวิชาเคมี เรียกว่าตึกเสือ เพราะทาสีพรางเป็นลายเสือ
ระหว่างสงคราม แต่ชื่อที่นิยมเรียกกัน คือตึกสัตวบาล เพราะอีกหลายปีต่อมาใช้สอนวิชาสัตวบาลโดยเฉพาะ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้อาคารหลังนี้ประกอบพิธีประสาทปริญญาบัตรแก่เกษตรบัณฑิตรุ่นแรก
ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ถึงรุ่นปี พ.ศ. ๒๔๙๒ โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
ณ ชั้นล่าง ห้องทางด้านทิศตะวันออก แต่คุณค่าที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกตรศาสตร์
คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร แก่เกษตรบัณฑิต
ณ ชั้นบนห้องทางด้านทิศตะวันออก
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์อาคารหลังนี้หลายประการ อาทิเช่น
ใช้เป็นห้องทำงานของอาจารย์ผู้ใหญ่ เคยเป็นสำนักงานของคณะผู้แทนสหรัฐที่มาช่วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชุดต้น ๆ และเคยใช้เป็นสำนักงานคณบดีคณะกสิกรรมและสัตวบาลระยะหนึ่ง
อาคารหลังนี้มีโครงสร้างที่แข็งแรงมาก ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะดำรงคงอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกแสนนาน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ดำเนินการซ่อม สงวนรักษา อาคารหลังนี้ไว้เป็นหอประวัติ
เพื่อแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตอันเป็นเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาตินานัปการ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
|
|
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งหอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เนื่องในวาระครบรอบวันสถาปนา ๖๐ ปี ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คณาจารย์
บุคลากร นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งมวล และประชาชนผู้สนใจได้ทราบถึงประวัติและวิวัฒนาการ
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่เริ่มสถาปนาจนถึงปัจจุบัน พร้อมเรื่องราวต่าง
ๆ ในอดีตที่เป็นเกียรติภูมิและความภาคภูมิใจ ตลอดจนศักยภาพในอนาคตของมหาวิทยาลัย
จึงได้ดำเนินการซ่อมแซม สงวนรักษาอาคารแห่งนี้ ซึ่งเดิมชาวเกษตรอาวุโสเรียกว่า
“ ตึกสัตวบาล ” เพราะชั้นบนเคยเป็นห้องสอนวิชาสัตวบาล หรือ “ ตึกเคมี
” เพราะชั้นล่างเคยเป็นห้องสอนวิชาเคมี หรือ “ ตึกขาว ” เพราะอาคารทาสีขาว
ให้เป็นอาคารหอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ความสำคัญของอาคารหลังนี้คือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ส่วนสิ่งที่ทำให้อาคารหลังนี้มีคุณค่าอันสำคัญยิ่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตครั้งแรก
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ ห้องโถงชั้นบนด้านทิศตะวันออก
|
|
- รวบรวม จัดระบบ อนุรักษ์และบริการ
เพื่อการศึกษาค้นคว้าด้านเอกสาร ภาพ สิ่งของ เครื่องใช้ในยุคสมัยต่าง
ๆ ของคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกรุ่น
- เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลให้แก่นักวิจัย นิสิตรุ่นหลัง
และผู้สนใจทั่วไปทราบถึงประวัติและวิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความเป็นมาและเป็นไปในอนาคตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยจัดทำในลักษณะของนิทรรศการแบบถาวร และนิทรรศการแบบหมุนเวียน (เฉพาะเรื่อง)
|