ศาสตราจารย์พนม สมิตานนท์ ได้กล่าวถึงหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจว่า

"เป็นครั้งแรกในชีวิตของข้าพเจ้าที่รู้จักคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์) เมื่อท่านเขียนหนังสือถึงข้าพเจ้า ในต้น พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นคุณหลวงสุวรรณฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรข้าพเจ้าเป็นนักเรียนเกษตรชั้นปีที่สี่ของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่โลสบานโยส ฟิลิปปินส์ กำลังจะสำเร็จใน ๓-๔ เดือนข้างหน้านั้น คุณหลวงสุวรรณฯ เขียนไปถามข้าพเจ้าว่า เรียนวิชาเกษตรศาสตร์หนักไปทางสาขาอะไรเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงไหนอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่ได้เป็น ได้เคยคิดที่จะทำงานอะไร ที่ไหนไว้แล้วหรือยัง ถ้ายังจะสมัครมาทำงานที่กรมเกษตรไหม ถ้าสมัครจะเรียนสำเร็จเมื่อไหร่ จะได้หาตำแหน่งไว้ให้ทางกรมเกษตร

หนังสือลักษณะนี้ ใคร ๆ ก็เรียกว่า หนังสือซักชวนให้มาทำงานด้วยกัน แสดงว่า เจ้าของหนังสือสนใจที่จะมามือมาช่วยทำงาน บ่งถึงความคิดที่ก้าวหน้าไปในทาง "สร้างคน" ผู้ได้รับหนังสืออย่างนี้ย่อมมีความภูมิใจเป็นกำลังที่ได้รับเกียรติจากบุคคลชั้นอธิบดีทาบทามให้ทำงานด้วย เป็นภาวะที่หาได้ไม่ง่ายนักในทุกสมัย แต่ข้าพเจ้าก็ต้องตอบปฏิเสธไปด้วยความเสียใจอย่างยิ่งว่าข้าพเจ้าเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงธรรมการ ต้องกลับมาทำงานใช้ให้กระทรวงธรรมการ ทั้งนี้เท่ากับข้าพเจ้าได้ปฏิเสธความหวังดีที่ท่านอธิบดีหลวงสุวรรณฯ หยิบยื่นให้นั้นเสีย แต่ก็ด้วยความจำเป็นอย่างยิ่ง

ครั้นข้าพเจ้าเรียนสำเร็จ กลับมารายงานตัวกับ กพ. แล้ว ขณะที่รอคำสั่งบรรจุเข้าทำงานนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ไปเยี่ยมคำนับท่านอธิบดีหลวงสุวรรณฯ ในสมัยกรมเกษตรอยู่ที่ถนนหลานหลวง ท่านยังถามข้าพเจ้าว่าทางกระทรวงธรรมการเขาจัดการอย่างไรในเรื่องจะบรรจุเข้ารับราชการ ถ้าขัดข้อง หรือเขาไม่รับอย่างไรละก็ให้รีบมาหา ท่านจะหาทางให้ทำงานในกรมเกษตร ก็แสดงว่าท่านพูดอะไรไว้แล้วไม่เคยลืม ประกอบกับความเป็นห่วงใยงานและสนใจที่จะได้ลูกมือมาร่วมงานเสมอ แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวจริงของคุณหลวงสุวรรณฯ ก็สร้างความเสื่อมใสให้แก่ข้าพเจ้ามากทีเดียว

กองวิสามัญในกรมศึกษาธิการสมัยนั้นได้ส่งข้าพเจ้าไปสอนในโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่แม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่หลังจากที่ข้าพเจ้าไปฝึกงานอยู่ที่กระทรวงธรรมการได้สามเดือน ต่อมาหลายปีทีเดียวที่ข้าพเจ้าไม่ได้ติดต่อกับคุณหลวงสุวรรณฯ นอกจากาจะได้มีโอกาสเข้ากรุงเทพฯเป็นครั้งคราว เห็นจะเป็นเพราะไม่ได้ร่วมงานกันอย่างหนึ่งและข้าพเจ้าเป็นเพียงครูน้อยอีกอย่างหนึ่งจนกระทั่งคุณหลวงฯ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรไปนานแล้วคุณพระช่วงเกษตรศิลปการมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรและการประมง และคุณหลวงสุวรรณฯ เป็นผู้อำนวยการเกษตรฝ่ายวิชาการของกรมเกษตรและการประมงคราวหนึ่ง ราว พ.ศ. ๒๔๘๖ คุณหลวงสุวรรณฯ ไปตรวจงานที่สถานีทดลองภาคพายัพ (คือสถานีกสิกรรมแม่โจ้ปัจจุบัน) ครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเกษตรศาสตร์ และรักษาการหัวหน้าสถานีทดลองภาคพายัพด้วย จึงนำท่านไปดูงานทดลงต่าง ๆ เช้าวันแรกหลังจากตื่นนอน ท่านก็ชวนไปดูงานตลอดคนงานลงงาน ๐๗.๐๐ น. ขณะดูงานไปเรื่อย ๆ เราก็ผ่านมาทางสวนผักทดลองที่คนงานกำลังรดน้ำกะหล่ำอยู่ท่านถามเจ้าหน้าที่ควบคุมว่า รดน้ำตอนเช้านี้แล้ว ตอนเย็นรดหรือเปล่าเจ้าหน้าที่ก็ตอบว่ารดด้วยทานว่า จำเป็นต้องรดสองเวลาไหม เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าจำเป็นครับ สวนผักจีนเขายังรดน้ำวันยังค่ำ คุณหลวงสุวรรณฯ ว่า มันไม่จำเป็นหรอกถ้าเรามีเวลารถเวลาเดียวรดเวลาเย็นก็พอคำสอนหรือคำแนะนำ หรือจะเรียกว่าคำสั่งก็ได้นี้ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นแก่เจ้าหน้าคนนั้น จนกระทั่งคุณหลวงสุวรรณฯ กลับไปแล้ว จึงมีเวลาถกปัญหานี้ขึ้น ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในระหว่างเจ้าหน้าที่ของสถานี เลยมีการชี้แจงทางวิชาการถึงเรื่องการใช้น้ำ ใช้แรงคนอย่างประหยัด และประโยชน์ของน้ำแก่ต้นพืชอย่างกว้างขวางต่อไป กรณีดังกล่าว แสดงว่าคุณหลวงสุวรรณฯ ท่านเป็นครูอย่างแท้จริง ท่านชอบถามปัญหาท่านยินดีรับฟังคำชี้แจงของผู้ใต้บังคับบัญชาและนักวิชาการทั่วไปและให้คำแนะนำทางวิชาการอยู่เสมอทำให้เห็นว่า ท่านทันสมัยและก้าวหน้าอยู่เป็นนิจ

ในระยะที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านตอนน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งในภาคกลางนั้นน้ำท่วมเจิ่งไปหมด ในกรุงเทพฯ ก็ท่วมทุกหนทุกแห่ง เหลือเกษตรกลางบางเขนแห่งเดียวที่น้ำไม่ท่วม ตอนนั้นนายอินทรี จันทรสถิตย์ (คุณหลวงอิงคศรีกสิการ) เป็นหัวหน้ากองสถานีทดลอง ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลป้องกันน้ำท่วมข้ามคันคูรอบบริเวณสถานีทดลองเกษตรกลาง (รวมทั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบันนี้) คุณหลวงสุวรรณฯ เป็นห่วงเรื่องไก่และสัตว์เลี้ยงมาก ท่านมาบางเขนทุกวัน ท่านคอยตรวจและคอยไต่ถามเสมอว่าแหล่งไหนคันดินอ่อนบ้าง เสริมดินทันไหม น้ำจะเข้ามาได้ไหม น้ำขึ้นน้ำลดอย่างไร ท่านเอาใจใส่และเป็นห่วงจริง ๆ คอยบอกเสมอว่าต้องการให้ช่วยอะไรให้บอก ไม่ต้องเกรงใจ แสดงถึงความห่วงใยคอยคิดช่วยผู้น้อยอยู่เสมอ ดังนี้ก็เป็นเสมือนโล่ที่คอยปกป้องผู้น้อยมิให้บกพร่องได้

เห็นจะเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังในเรื่องความตั้งใจจริงที่คุณหลวงสุวรรณฯ ท่านชักชวนข้าพเจ้าให้มาทำงานด้วยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ นั้น ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสในระยะหลังนี้มารับใช้ท่านอธิการบดีหลวงสุวรรณฯ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนเป็นเวลาร่วม ๔ ปี ก่อนที่ท่านจะออกรับบำนาญ ทำให้ข้าพเจ้าพบความดีในตัวคุณหลวงสุวรรณฯ อีกหลายประการ อาทิ เมื่อท่านได้ไว้วางใจผู้ใดแล้ว ท่านก็ปล่อยเดี่ยวให้ทำงานไป สำเร็จแล้วท่านก็ชม บางครั้งท่านก็กล่าวขอบใจซึ่งพวกเราก็ถือว่าเป็นบำเหน็จความชอบจากผู้บังคับบัญชาอย่างหนึ่ง นอกจากคำกล่าวแล้ว ท่านก็พยายามเสมอที่จะเสนอขอความชอบให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา มีหลายครั้งที่ท่านพูดว่า วิธีประจบท่าน คือทำงานให้ดี บรรดาผู้ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของคุณหลวงสุวรรณฯ คงจะรู้สึกความจริงใจในข้อนี้ดี ตลอดเวลาที่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาเราจะรู้สึกว่าร่มเย็น เพราะท่านเป็นคนตรงไปตรงมา ผิดท่านก็สอน ดีท่านก็ชม แม้ท่านเองก็ยอมรับเช่นว่าเออ/ผมเองหรือนี่ แล้วท่านก็หัวเราะ อย่างนี้ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานด้วยความสบายใจที่ท่านรับฟังความเห็นผู้ใช้บังคับบัญชา และไม่ก่อนความหวาดหลัวให้แก่ผู้น้อย

ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของผู้ใต้บังคับบัญชาท่านก็เอาใจใส่สอดส่องและสั่งสอน ผู้น้อยบางคนประพฤติไม่ดี ภายหลังมากลับตัวได้ท่านก็ชมโดยที่ข้าพเจ้าได้ยินมาเองว่า เขากลับตัวได้ก็ดีแล้วอนุโมทนาด้วย แสดงว่าท่านมีคุณลักษณะห่วงใยผู้น้อยให้โอกาสผู้น้อยแก้ตัวและส่งเสริมการทำดีของผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอ ท่านจึงเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างแท้จริง

ข้าพเจ้าเองแม้ไม่เคยเป็นศิษย์โดยตรง ก็เป็นศิษย์ของคุณหลวงสุวรรณฯ โดยงาน เพราะมีโอกาสเรียนรู้จากท่านได้มากมาย เมื่อได้มาร่วมงานกับท่านจึงระลึกถึงบุญคุณท่านเป็นอันมาก"


ที่มา : หนังสือ "๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เหลียวดูหลัง แลไปข้างหน้า" หน้า ๔๔-๔๗