พระช่วงเกษตรศิลปการ ได้กล่าวถึงหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจไว้ในงานพระราชทานเพลิงศพว่า

"ทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้ ต่างมีความอาลัยความรักในตัวคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์)ท่านเป็นบุคคลที่มีน้ำใจอันกว้างขวางเยือกเย็นเผื่อแผ่ในวิชาความรู้ความคิดเห็นเป็นบุคคลที่ขยันขันแข็งที่หาตัวเปรียบได้ยาก ต่อสู้กับความยากลำบาก ถ้าเราขอให้ท่านแก้ปัญหาใด ๆ ท่านจะพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง เราจึงเป็นเพื่อนที่รักใคร่กันมาตั้งแต่หนุ่มจนมาจากกันไป

สุวรรณ เรศานนท์ อินทรี จันทรสถิตย์ และข้าพเจ้าร่วมการเล่าเรียนการเกษตรจากสำนักเรียนเดียวกันมาที่เมืองโลสบาโยส ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แต่ต้องจากกันไปชั่วระยะหนึ่งแล้วกลับมารับราชการร่วมกันอีก ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมบางสะพานใหญ่ในสมัยที่ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีและเจ้าคุณเทพศาสตร์สถิตย์กำลังปรับปรุงการศึกษาเกษตรกรรมในกระทรวงศึกษาธิการ กิจการและความยุ่งยากในการจัดโรงเรียนแผนกนี้ในขณะนั้นยังเป็นเรื่องใหม่และงบประมาณยังไม่เข้ารูป จึงเป็นอุปสรรคแก่การงานอยู่มาก ทำให้โรงเรียนเกษตรกรรมล้มลุกคลุกคลานไปชั่วระยะหนึ่ง ทั้งนี้ทำให้เราทั้งสามต้องร่วมมือกันต่อสู้กับความผันผวน และสรสุมต่าง ๆ จนท่านผู้ใหญ่ตอนหลัง ๆ นี้เข้าใจดี และได้โอบอุ้มให้โรงเรียนเกษตรกรรมฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ข้าพเจ้าทราบดีว่า สุวรรณเป็นหัวแรงสำคัญในเรื่องแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี เพราะสุวรรณเปป็นผู้มีเหตุผลดีชางเสนอข้อความได้ดีและน่าฟังเรายกให้สุวรรณเป็นคนเขียนโครงการต่าง ๆ และเรายกให้สุวรรณ ดื้อดี ดื้อด้วยเหตุผล และเขาเอาชนะจนได้เราทั้งสองขอยกคุณความดีนี้ให้กับสุวรรณ ว่าเป็นคนทำจริง และทำสำเร็จเสมอ

ในระยะ ๔๐ ปีนี้ คุณหลวงสุวรรณฯ ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่การศึกษาการเกษตรอย่างมหาศาลเพราะคุณหลวงสุวรรณฯ ทำตนเป็นอาจารย์โดยตลอดมา เป็นที่เคารพนับถือแก่ศิษย์หลายสิบรุ่น ตั้งต้นแต่สวนครัว เลี้ยงไก่หลังบ้าน เผยแพร่ความรู้ เขียนตำรับ ตำรา แนะนำให้ประชาชนรู้จักเลี้ยงไก่ มีวารสารเรื่องเลี้ยงไก่เกิดขึ้นหลายฉบับ รวมทั้งร้านขายอาหารไก่อาหารสัตว์หลายสิบจังหวัดต่อมารู้จักขยายการเลี้ยงจากหลังบ้านเป็นการอุตสาหกรรมเล็กใหญ่เกิดขึ้นตามกันพวกใหม่ ๆ หวังร่ำรวยก็ชวนกันลงทุน ในที่สุดก็พบปัญหาเรื่องโรคของไก่และอื่น ๆ เลยต้องรีบหาความรู้กันมากมายในเรื่องการเลี้ยงไก่ ในระยะ ๒๐ ปีที่แล้ว การเลี้ยงไก่ได้รุดหน้ามามาก จนบัดนี้การเลี้ยงไก่เป็นที่นิยมนับถือขอบบ้านเมือง ใคร ๆ ที่เลี้ยงไก่ ถ้าไม่รู้จักคุณหลวงสุวรรณ ฯ แล้วไม่มี บัดนี้ลูกศิษย์ลูกหาพูดตามเสียงของท่านอาจารย์ต่อไปอีกว่า เลี้ยงไก่ตอน, ไก่รุ่นกระทง จะร่ำรวยเพราะเป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงแม่ไก่พันธุ์ไข่ที่ท่านอาจารย์ได้เริ่มไว้ ชื่อเสียงของการเลี้ยงไก่ของบ้านเราเป็นที่นิยมชมชอบของประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่ชัด เพราะข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมโรงเรียนเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ได้พบปะกับท่านศาสตราจารย์ฟรอนดา ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงไก่ ซึ่งเคยมาประจำอยู่ที่บางเขนครั้งหนึ่ง ท่านกล่าวในที่ประชุมของคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยว่าเมืองไทยได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ จากการเลี้ยงไก่หลังบ้านเป็นอุตสาหกรรมสำเร็จขึ้นแล้วเพราะคุณหลวงสุวรรณฯ และลูกศิษย์ของท่าน ซึ่งเจริญกว่าฟิลิปปินส์มาก

ข้าพเจ้าภูมิใจที่ได้เขียนงานส่วนหนึ่งและคุณความดีของเพื่อน แม้เพื่อนได้จากไปแล้วกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติไว้ส่งเสริมไว้ ทั้งไว้ให้ศิษย์ และคนรุ่นหลังยังปรากฎอยู่ต่อไป และคงเป็นแนวทางให้ศิษย์รุ่นต่อไปรักษาคุณความดีเหล่านี้ไว้ความดีไม่สูญสิ้น ความสดชื่นอังคงมีอีกนาน ขอให้เรารักษาไว้ ส่งเสริมงานไว้ต่อไป

สุวรรณเป็นผู้ที่มีความรักบ้านเมือง และมีความเป็นห่วงในการที่จะอบรมถ่ายวิชา ครั้งหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้ทดลองปลูกยาสูบที่เชียงใหม่ และได้ตัวเลขที่จะทำให้ผู้ปลูกเป็นเศรษฐีในไม่ช้านัก ก็เคยคิดที่จะลาราชการมาปลูกยาสูบ แต่ต้องปรึกษาสุวรรณก่อน เพื่อนบอกว่าถ้าช่วงลาออกไปปลูกยา ช่วงคงเป็นคนร่ำรวยสมใจ แต่เพื่อนอย่าเอาเงินเลย ขอให้เอาเกียรติสอนลูกศิษย์อบรมคนให้ดี ๆ ให้เขาไปทำกันหลาย ๆ คนดีกว่าจะรวยคนเดียว เพราะเวลานั้นโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมที่แม่โจ้ไม่มั่นคงนัก กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้รับนักเรียนเพียง ๘๐ คน แต่นักเรียนนิยมการเกษตรเดินทางไปสมัครเรียนมากมาย จนเป็น ๑๖๐ คน ซึ่งข้าพเจ้าต้องอึดอัดใจ ไม่รู้จะไล่เด็กกลับอย่างไร เลยพยายามรับไว้หมดทั้ง ๑๖๐ คน ซึ่งพวกเราต้องทำงานเป็นสองเท่า เพราะครูมีอยู่จำกัด ต้องรีบปลูกโรงใบตองตึงอยู่ เพื่อนสนับสนุนการงานของข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ เพราะเวลานั้นเพื่อนเป็นอธิบดีกรมเกษตร และเราได้นักเกษตรออกมาจากแม่โจ้เป็นหัวแรงในการส่งเสริมและเผยแพร่ และบางคนก็ไปทำไร่ยาสูบ บ่มยาสูบ ทำสวนส้มจนร่ำรวยและมีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ ขอยกคุณความดีอันนี้ให้สุวรรณเพื่อนที่รัก ถึงข้าพเจ้าจะขัดสนบ้างเวลานี้แต่มีความปลาบปลื้มที่ลูกศิษย์หลายคนร่ำรวยเราสองคนพูดถึงผลงานของเราแล้วก็ปลื้มใจ เรารวยความปลื้มใจ พวกเกษตรเป็นแนวหลังเปรียบเหมือนคนครัวอยู่แต่ในครัว ไม่ต้องออกหน้าออกตา แต่เป็นพวกที่ทำให้ท้องอิ่ม และทุกคนมีความสุข"


ที่มา : หนังสือ "๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เหลียวดูหลัง แลไปข้างหน้า" หน้า ๓๘-๓๙