๓. ชีวิตครอบครัว

เมื่อท่านอินทรี เข้าทำงานได้ยังไม่ทันครบปี โรงเรียนประถมกสิกรรมก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่คือ ที่อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้ย้ายตามไปด้วย และในปีนี้เอง ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงอิงคศรีกสิการ เมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ๒๔๖๗ ท่านมีอายุเพียง ๒๕ ปี เท่านั้น นับว่าเป็นคุณหลวงที่หนุ่มมาก

ท่านเล่าว่า เมื่อโรงเรียนย้ายไปอยู่ที่ใหม่ งานหนักที่สุดคืองานบุกเบิก ถางป่า สร้างอาคารเรียน อาคารที่พัก อาคารที่ทำงาน โดยปกติพวกอาจารย์จะเดินทางเข้ากรุงเทพ เดือนละ ๑ ครั้ง หรือบางทีก็ ๒ เดือนต่อครั้ง เพื่อเยี่ยมบ้านและหาซื้อของใช้ที่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารแห้ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านอาจารย์อินทรี ได้ถูกแนะนำให้รู้จักกับ น.ส.สำเนียง เธียรประสิทธิ์ บุตรี นายจีน นางแดง เธียรประสิทธิ์ โดยเพื่อนเก่าที่เคยเรียนที่ ร.ร.สวนกุหลาบมาด้วยกัน คือ นายมงคล เธียรประสิทธิ์ (หลวงเธียรประสิทธิสาร) พี่ชายของ น.ส. สำเนียงนั่นเอง

หลังจากได้รู้จักกันประมาณเกือบปี จึงได้มีการทำการสู่ขอตามประเพณี ผู้เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอคือ พระอนุสิทธิ์วิบูลย์ (เปี่ยม จันทรสถิตย์)1 พี่เขยของท่านอาจารย์อินทรี และได้เข้าสูงพิธีมงคลสมรสในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่บ้านของเจ้าสาว คือที่บ้านตรอกข้าวสาร อ.สัมพันธวงศ์ โดยมีพระอนุสิทธิ์วิบูลย์ เป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย นายจีน เธียรประสิทธิ์ เป็นเจ้าภาพฝ่ายหญิง

หลังจากแต่งงานแล้ว ท่านอาจารย์อินทรียังปฏิบัติงานอยู่ที่บางสะพานใหญ่ ส่วนคุณนายสำเนียงก็ยังคงอยู่ที่บ้านเดิม มิได้ย้ายตามไปด้วยเพราะต้องคอยดูแลคุณย่า (นางพุ่ม เธียรประสิทธิ์) และดูแลคุณพ่อ ซึ่งสุขภาพไม่ค่อยดี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านอาจารย์อินทรี ได้ย้ายตามโรงเรียนไปอยู่ที่ทับกวาง อ.แก่งคอย คุณนายสำเนียงก็ไม่ได้ย้ายตามไปด้วย ดังคงอยู่ที่บ้านเดิม

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อท่านอาจารย์อินทรีได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนวชิราวุธ จึงได้ย้ายครอบครัวจากบ้านตรอกข้าวสาร ไปพักในบ้านพักที่ ร.ร.วชิราวุธ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อท่านอาจารย์อินทรีได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนประถมกสิกรรม โนนวัด จึงได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ด้วย และได้ให้ครอบครัวอยู่ที่โนนวัด ๑ ปี แล้วให้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านถนนศรีอยุธยา ที่อยู่ในปัจจุบันทั้งนี้เพราะต้องการให้บุตรสาวได้เข้าเรียนหนังสือแต่อายุยังน้อย

ท่านอาจารย์อินทรี เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ท่านเป็นผู้นำของครอบครัวและพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ครอบครัวของท่านมีความสุข ไม่เดือนร้อน


ที่มา : หนังสือ "ชีวิต และ งาน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ)" อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) อินทรี จันทรสถิตย์ หน้า ๘๕-๙๓