๑.๑ การศึกษา

ท่านอาจารย์อินทรี เล่าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดคฤหบดี ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เรียนวิชาสามัญชั้นมัธยม (ม.๘) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจบเมื่ออายุเพียง ๑๖ ปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียนด้วย เมื่ออายุยังน้อย ท่านก็สมัครเรียน ม.๘ อีกหนึ่งปี และสำเร็จ ม.๘ หนที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วก็สมัครเข้าเป็นครูฝึกหัด และได้สอนในโรงเรียนสวนกุหลาบฯ นั้นเอง

ในระหว่างเป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ท่านก็เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน เมื่อเป็นครูฝึกหัดแล้ว ก็ยังคงเล่นอยู่ในทีมสโมสรครูนครหลวง รวมแล้วเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ และเล่นฟุตบอลในทีมสโมสรครูนครหลวงอยู่ ๒ ปี จนสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๖๐

๑.๒ การศึกษาในต่างประเทศ

ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านอาจารย์ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่ท่านได้รับคำสั่งให้เรียนวิชาเกษตรกรรมในประเทศพิลิปปินส์ก่อน แล้วจึงไปเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาหากว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบเร็ว ท่านเป็นนักเรียนทุกฯ คนแรก เข้าเรียนในคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ ณ เมืองลอสบานโยสห่างจากนครหลวง “มนิลา” ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ส่วนคณะอื่น ๆ นั้นอยู่ในนครหลวงมนิลา

ท่านอาจารย์เรียนหลักสูตรปริญญาตรีกำหนดเวลาศึกษา ๔ ปี ภายในเวลา ๓ ปี ทั้งนี้เพราะท่านเรียนเพิ่มเติมในภาคฤดูร้อน เอาหน่วยกิตไปบวกกันกับหน่วยกิตภาคเรียน

ปกติได้ ตลอดเวลาเรียนท่านไม่ได้เล่นฟุตบอลเลย เพราะได้ตัดสินใจเรียนอย่างเดียว และใช้เงินที่ได้รับก่อนเดินทางและเงินค่ากินอยู่ประจำเดือน ซึ่งประหยัดได้นั้น เป็นค่าเล่าเรียนภาคฤดูร้อน

ท่านอาจารย์เป็นผู้แนะนำให้ท่านอาจารย์พระช่วงฯ เปลี่ยนการศึกษาวิชา “เพาะช่าง” ในนครมนิลา มาเรียนวิชาเกษตรด้วยกัน ณ เมืองลอสบานโยส เพราะว่าโรงเรียน “เพาะช่าง” ซึ่งเป็นโรงเรียนของกรมศึกษาของรัฐบาลฟิลิปปินส์เหมือนกัน แต่มีอาจารย์ อุปกรณ์การสอน และอาคารเรียนไม่ครบถ้วนอย่างคณะเกษตรในเมืองลอสบานโยส

ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านอาจารย์ทองดี เรศานนท์ (คือ ศาสตราจารย์หลวงสุวรรณ วาจกกสิกิจ) ได้เดินทางมาเรียนวิชาการเกษตรที่ เมืองลอสบานโยสก็ได้พบกับท่านอาจารย์ทั้งสอง ซึ่งกำลังจะออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกา

ท่านอาจารย์อินทรี จบปริญญา และไปเรียนปริญญาโท สาขาเกษตรต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ณ เมืองอิทากะ มลรัฐนิวยอร์ค ส่วนอาจารย์พระช่วงฯ สำเร็จชั้นปีที่ ๒ ของปริญญาตรี ไปเรียนต่อแเละเรียนถึงปริญญาโท สาขาสัตวบาล ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนชิน

ท่านอาจารย์อินทรี ใช้เวลาศึกษาจบปริญญาโทในเวลา ๒ ปี นับว่าเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาโท ท่านอาจารย์อินทรี เล่าว่าตอนที่ท่านเรียนอยู่ที่คอร์แนลนั้น ท่านพักอยู่ห้องเดียวกับนายสิงห์ ไรวา อดีตปลัดกระทรวงพานิช (พี่ชายของคุณหญิงสำอางค์ ภริยาคุณพระช่วงเกษตรศิลปการ) และนายสิงห์ มีรถมอร์เตอร์ไซคพ่วงข้าง จึงได้ไปเที่ยวไหนต่อไหนด้วยกัน และท่านอาจารย์อินทรีมีหน้าที่ทำอาหาร เพราะท่านมีฝีมือในทางนี้

ท่านเล่าว่า ท่านขอเรียนปริญญาเอกต่อไป แต่ไม่ได้รับอนุญาต เพราะทางการต้องการคนมาใช้ ท่านก็เล่าอีกว่า ความรู้ที่เรียนมาถึงขั้นปริญญาโทนั้น ก็เอามาใช้ไม่หมด แล้ววิชาที่ได้ศึกษาก็เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปตามกาลเวลา ก็เป็นความรู้ครึไป เช่น วิชาผสมพันธุ์พฤกษ์ (plant breeding) เพราะไม่มีโอกาสใช้ การเรียนนอกหลักสูตรมหาวิทยาลัย เป็นงานปฏิบัติทั้งนั้น มีความสำคัญและเป็นประสบการณ์มาก แบบที่ท่านพระยาเทพศาสตร์สถิตย์สร้างขึ้นในโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) นั้น มีความสำคัญมากในการพัฒนาชนบทของไทยเหมาะสมกับสมัยนั้น

ท่านอาจารย์ เดินทางกลับทางยุโรป ถึงปีนังแล้วโดยสารรถด่วนเข้ากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๖๖


ที่มา : หนังสือ "ชีวิต และ งาน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ)" อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) อินทรี จันทรสถิตย์ หน้า ๘๕-๙๓