ประวัติความเป็นมา


โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ได้รับการจัดตั้งโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๓๙ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ และผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติหลักการขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยของรัฐในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมื่อ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๙ ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยได้มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรของมหาวิทยาลัยและจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อดำเนินการจัดหาสถานที่จัดตั้งวิทยาเขต และได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้ง วิทยาเขตสุพรรณบุรีขึ้นชุดหนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ ทำหน้าที่วางแผน บริหาร ประสานงาน และติดตามการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งฯ
หลักการและเหตุผล

การขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค เป็นนโยาบายที่เร่งดำเนินการในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ หลักการขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยของรัฐในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี เป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ในความรับ ผิดชอบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งทางจังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดหาที่สาธารณประโยชน์ ลำสมุห์ในอำเภอเมืองและอำเภอบางปลาม้า พื้นที่ ๔๔๒ ไร่เศษ ให้เห็นที่ตั้งวิทยาเขต และมีพื้นที่ขยายงานแห่งอื่นรวมเป็นพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ประกอบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีระบบการสอนทางไกลระหว่างวิทยาเขตบางเขนและกำแพงแสน ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากทำเลที่ตั้งและความพร้อมในด้านการจัดการสอนทางไกลดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีฐานรองรับโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ให้เกิดผลสำเร็จได้ด้วยดี
นอกจากนี้ ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ รัฐบาลได้กำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (Western Seaboard) ซึ่งจะมีการขยายตัวของ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนางานเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ที่ทำให้สภาพสังคมและความต้องการของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป สถาบันอุดมศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยนำการพัฒนารองรับการขยายตัว และรักษาสภาพสังคมที่พึงประสงค์ แต่ในภาคตะวันตกนั้นยังไม่มีสถาบัน อุดมศึกษาของรัฐที่ตั้งอยู่เลย และหากพิจารณาจากจำนวนนักเรียนมัธยมปลายในเขตการศึกษา ๕ ซึ่งครอบคลุมจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันตกได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และสมุทรสงคราม มีจำนวนนักเรียนในปีการศึกษา ๒๕๓๙ รวมทั้งสิ้น ๓๗,๕๙๑ คน โดยที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีนักเรียนมากที่สุด จำนวน ๘,๘๓๘ คน ดังนั้นแนวโน้มความต้องการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาจึงสูงมาก การจัดตั้ง วิทยาเขตสุพรรณบุรีจึงเหมาะสมทั้งในด้านที่ตั้ง ความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของพื้นที่ และความต้องการของชุมชนท้องถิ่น นอกจากนั้น จังหวัดสุพรรณบุรีมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ในเขตการศึกษา ๖ ซึ่งครอบคลุมจังหวัดในภาคกลางตอนบน ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท และอยุธยา และเป็นเขตที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตั้งอยู่เช่นเดียว วิทยาเขตสุพรรณบุรีจึงสามารถรองรับ การขยายการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกส่วนหนึ่ง
ที่ตั้ง

- หมู่ที่ ๒ ตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
- หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าระหัด อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
- หมู่ที่ ๑๑ ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ ๑๓ กม.


วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง

๑. เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ในการกระจายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค
๒. เพื่อผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาในสาขาการแพทย์ การบริหาร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ
๓. เพื่อพัฒนากำลังคนในเขตพื้นที่ภาคตะวันตกและบริเวณใกล้เคียงกัน โดยเน้นการให้บริการด้านการเรียนการสอนในระดับปริญญาและหลักสูตร ระยะสั้น รวมทั้งฝึกอบรมวิชาชีพในด้านต่าง ๆ
๔. เพื่อดำเนินงานวิจัย พัฒนาวิชาการและให้บริการวิชาการด้านต่าง ๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง
๕. เพื่อเป็นแหล่งให้บริการสาธารณสุขรวมทั้งการเผยแพร่วิทยาการ และให้บริการทางวิชาการ แก่ประชาชน ในภูมิภาคตะวันตก - ภาคกลางตอนบน
๖. เพื่อศึกษาและส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนภาษาถิ่นซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่สำคัญ
๗. เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ จัดการศึกษาในมาตรฐานระดับสากลและสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมไทย
คณะวิชาที่เปิดสอน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี จะเปิดสอน ๑๔ สาขาวิชา ใน ๗ คณะ ดังนี้

คณะ/สาขาวิชา ปีการศึกษาที่คาดว่าจะเปิดสอน
๑. แพทยศาสตร์
- แพทยศาสตร์ ๒๕๔๙
๒. พยาบาลศาสตร์
- พยาบาลศาสตร์ ๒๕๔๗
๓. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ๒๕๔๕
- การจัดการธุรกิจบริการ ๒๕๔๕
-การจัดการทรัพยากรมนุษย์ (ต่อเนื่อง) ๒๕๔๗
- การจัดการธุรกิจบริการ (ต่อเนื่อง) ๒๕๔๗
๔. คณะสหเวชศาสตร์
- กายภาพบำบัด ๒๕๔๗
- เทคนิคการแพทย์ ๒๕๔๗
- รังสีเทคนิค ๒๕๔๗
- เวชนิทัศน์ (ต่อเนื่อง) ๒๕๔๗
- สาธารณสุขศาสตร์ ๒๕๔๙
๕. วิทยาศาสตร์การแพทย์
- วิทยาศาสตร์การแพทย์ ๒๕๔๕*
๖. วิทยาศาสตร์การกีฬา
- วิทยาศาสตร์การกีฬา ๒๕๔๕
๗. นิติศาสตร์
- นิติศาสตร์ ๒๕๔๖

* ในระยะแรกเปิดสอนที่วิทยาเขตบางเขน
การจัดการเรียนการสอนในจังหวัดสุพรรณบุรี

ขณะนี้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี โดยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยได้เปิดการเรียนการสอนในจังหวัด สุพรรณบุรี ๓ หลักสูตร ดังนี้

๑.๑ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การกีฬา)
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นในเรื่องเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท การวิจัยร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มเปิดสอน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การกีฬา) ภาคพิเศษ ณ จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๒ โดยใช้สถานที่ของวิทยาลัย พลศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน ขณะนี้เปิดรับนิสิตแล้ว ๓ รุ่น รุ่นที่ ๑ จำนวน ๙ คน รุ่นที่ ๒ จำนวน ๑๗ คน และรุ่นที่ ๓ จำนวน ๒๔ คน

๑.๒ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจภาคพิเศษ ณ โรงแรมสองพันบุรีธานี ขณะนี้เปิดรับนิสิตแล้ว ๒ รุ่น รุ่นที่ ๑ จำนวน ๘๐ คน และรุ่นที่ ๒ จำนวน ๘๒ คน

๑.๓ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต(ต่อเนื่อง)ภาคพิเศษ
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องในสาขาสาธารณสุขศาสตร์ภาคพิเศษ ณ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี โดยรับนิสิตรุ่นที่ ๑ จำนวน ๒๐๐ คน และเปิดเรียนเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๔ ขณะนี้กำลัง ดำเนินการรับสมัครนิสิต รุ่นที่ ๒ จำนวน ๒๐๐ คน เช่นกัน
ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่น


๑. ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวิทยาเขตสุพรรณบุรี ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์-วชิระ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพื่อความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และ จัดหาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันจัดทำหลักสูตรสาขาวิชาต่าง ๆ และหน่วยงานดังกล่าวมีคณาจารย์ที่จะสอนวิชาต่าง ๆ ในแต่ละหลักสูตร เช่น กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทยื วิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เป็นต้น และคณาจารย์เหล่านี้ยินดีให้ความร่วมมือและ สนับสนุนการเรียนการสอนที่จะมีขึ้นที่วิทยาเขตสุพรรณบุรี

๒. ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ

๒.๑ Nagoya University
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ Nagoya University School of Medicine ประเทศญี่ปุ่น ได้เชิญผู้บริหารวิทยาเขตสุพรรณบุรีและคณะไปเยี่ยมชมสถาบัน ชมผลงาน ทางวิชาการ ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัย โรงพยาบาล และการบริหารจัดการโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น จากการเจรจาแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นกันในเบื้องต้น ทางญี่ปุ่นยินดีจะให้ความช่วยเหลือแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในด้านการวิจัย การจัดตั้งคณะแพทย์และการแลกเปลี่ยน นักศึกษาและอาจารย์

๒.๒ University of Northumbria at Newcastle (UNN)
๒.๒.๑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสร้างความร่วมมือกับ UNN ด้านสาขาวิชาในกลุ่ม
- สหเวชศาสตร์
- วิทยาศาสตร์การกีฬา
- กฎหมายระหว่างประเทศ
๒.๒.๒ จะร่วมกับ UNN ในการพัฒนาหลักสูตรที่มีเป้าหมายผลิตพยาบาลที่ทำงานในระดับสากล


ที่มา : แผ่นพับแนะนำวิทยาเขตสุพรรณบุรี ธันวาคม 2544