ประวัติความเป็นมา


จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และสกลนคร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของจังหวัดสกลนครและอีสานตอนบนนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้ โดยมีเทือกเขาภูพานเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และ กาฬสินธุ์

รายได้ส่วนใหญ่ของประชากรในภูมิภาคนี้ขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง ปอกระเจา ปอแก้ว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และอ้อย นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ผลและพืชอื่น ๆ เป็นการเสริมรายได้ เช่น มะเขือเทศ ละหุ่ง ข้าวโพดฝักอ่อน แตงโม สับปะรด ผักชนิดต่าง ๆ ที่มีระยะเก็บเกี่ยวสั้น ด้านการเลี้ยงสัตว์นั้น มีการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม สุกร เป็ด และไก่ เป็นสำคัญ ส่วนด้านการประมง นั้น มีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ คือหนองหาร เป็นแหล่งบริหารจัดการผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำที่สำคัญควบคู่กับแหล่งสัตว์น้ำ ลุ่มแม่น้ำโขง ของบริเวณ ภูมิภาคแห่งนี้ แต่จากการสำรวจข้อมูลทางสถิติทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ปรากฎว่า ประชากรของภูมิภาคอีสานตอนบนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาค

และนอกจากนี้ยังประสบปัญหาสำคัญ ๓ ประการ คือ ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ บนเทือกเขาภูพาน ปัญหาดินเค็มแผ่ขยายและปัญหาการบุกรุกทำลายสภาพแวดล้อมในหนองหารและแหล่งน้ำต่าง ๆ ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาค นี้ด้อยโอกาสทางการศึกษากว่าพื้นที่อื่น ๆ จึงทำให้เป็นจุดบอดในการพัฒนา ทั้งในการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ซึ่งหาก มองให้รอบคอบแล้วภูมิภาคนี้มีศักยภาพด้านสถานที่ตั้ง ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ตลอดจนจนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม เป็นดินแดนแห่งพุทธธรรม พร้อมเพียงที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเกษตรก้าวหน้าและอุตสาหกรรม แต่อยู่บนพื้นฐานอนุรักษ์เพื่อการติดต่อค้าขายเปิดประตู สู่ตลาดอินโดจีนหรือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญในภูมิภาคนี้หรือภูมิภาคอื้นในโลกต่อไปในอนาคต

นับเป็นโอกาสอันดีของประชาชนในภูมิภาคนี้ ทั้งในจังหวัดสกลนครและอีสานตอนบน ที่มีแหล่งน้ำหนองหาร และเทือกเขาพูภานบริเวณจังหวัดสกลนคร เป็นสถานที่ตั้งของตำแหน่งภูพานราชนิเวศน์ และเนื่องจากภูมิภาคแห่งนี้มีศักยภาพพร้อมเพื่อการพัฒนา จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงดำเริให้มีโครงการพระราช ดำริ โครงการศิลปาชีพ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในจังหวัดสกลนคร และอีสานตอนบน ของภูมิภาคแห่งนี้จำนวนกว่า ๕๘๖ โครงการ ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้มุ่งเน้นพัฒนาภูมิภาคแห่งนี้ครอบคลุมการพัฒนาทุกด้าน เช่น ด้านแหล่งน้ำ การเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ การประมง การสาธารณสุข สังคม และจิตวิทยา การส่งเสริมอาชีพ ตลอดจน การอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ กอปรกับเพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ในการกระจาย โอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคของประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (๒๕๓๕-๒๕๓๙) และฉบับที่ ๘ (๒๕๔๐-๒๕๔๔) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย และจังหวัดสกลนคร จัดตั้ง "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร" ขึ้น


วัตถุประสงค์

๑. จังหวัดสกลนคร เป็นที่ตั้งของตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพานศูนย์ศิลปาชีพต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลางศึกษา โครงการพระราชดำริ โครงการศิลปาชีพ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวนมากกว่า ๔๐๐ โครงการ
๒. จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาคอีสานตอนบน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในภูมิภาคนี้
๓. จังหวัดสกลนคร สามารถจัดหาพื้นที่สำหรับก่อสร้างวิทยาเขต ได้เหมาะสมและเพียงพอ อยู่บนถนนหลัก (สกลนคร-นครพนม) ห่างจากตัวจังหวัด เพียง 19 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกอยู่ไม่ไกลจากหนองหาร สามารถใช้หนองหารเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคได้ ตลอดจนทางจังหวัด สามารถจัดหากองทุนเพื่อพัฒนากิจกรรมของวิทยาเขตให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้
๔. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ทันที เนื่องจากเป็นสาขาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มีศักยภาพ และดำเนินการสอนอยู่แล้ว เช่น สาขาเกษตรศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ และอื่น ๆ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้สอดคล้องและ ตรงกับศักยภาพและความต้องการของภูมิภาคนี้ด้วย (ตลอดจนเป็นการผลิตบัณฑิตในสาขาขาดแคลนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และผลิตบัณฑิตระดับนานาชาติในภูมิภาคแห่งนี้อีกด้วย)
๕. รัฐบาลโดยทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกด้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณ จะให้การสนับสนุนงบประมาณ แยกต่างหากจากงบประมาณประจำปีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

โครงการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร" เดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งวิทยาเขตในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้ใช้ชื่อว่า "วิทยาเขตสกลนคร (ภูพานกาญจนาภิเษก)" ต่อมาในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเป็น "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร" พร้อมทั้งได้รับพระราชทานตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ประดิษฐานที่อาคารบริหารของวิทยาเขตเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย อาคารบริหารของวิทยาเขต ได้รับงบประมาณ ก่อสร้างในปีงบประมาณ ๒๕๔๐ เริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ และทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทางวางศิลาฤกษ์ในช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ อาคารบริหาร ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ๒๕๔๐


ภาพถ่ายทางอากาศ พื้นที่วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร
สถานที่ตั้ง


สถานที่ตั้งจากถนนหลักเลขที่ ๒๒ (สกลนคร-นครพนม) ประมาณ ๓ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัด ประมาณ ๑๙ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๓,๗๕๐ ไร่ ซึ่ง อยู่ติดกับหนองหาร และมีเพียงถนนหลักเลขที่ ๒๒ คั่นขวางเท่านั้น พื้นที่บริเวณหนองหารน้อยนี้มีพื้นที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ อยู่ห่างจากพื้นที่ตั้งวิทยาเขต หลัก ตำบลเชียงเครือประมาณ ๕ กิโลเมตร พื้นที่บริเวณหนองหารน้อยนี้จะพัฒนาเป็น "อุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติ" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดังนี้คือ เป็นสถานที่เพื่อการวิจัยสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ และสวนพฤกษศาสตร์และพรรณไม้น้ำในอนาคต และพื้นที่ดิน สาธารณประโยชน์ที่อำเภอกุสุมาลย์ ตั้งอยู่บนถนนหลักเลขที่ ๒๒ ห่างจากที่ทำการอำเภอกุสุมาลย์ไปทางจังหวัดนครพนมพื้นที่ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าวิจัยด้านพืชและสัตว์ต่อไปในอนาคต


อาคารบริหาร
คณะและสาขาวิชาที่เปิดสอน


๑. คณะทรัพยากร ธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร
ระดับปริญญาตรี
๑. สาขาวิชาเกษตร
๒. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
๓. สาขาวิชาทรัพยากรเกษตรชีวภาพ

๒. คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
ระดับปริญญาตรี
๑. สาขาวิชาคณิตศาสตร์
๒. สาขาวิชารังสีประยุกต์ฯ
๓. สาขาวิชาสัตววิทยา
๔. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
๕. สาขาวิชาเคมี
๖. สาขาวิชาชีวเคมี
๗. สาขาวิชาชีววิทยา
๘. สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
๙. สาขาวิชาฟิสิกส์
๑๐. สาขาวิชาพันธุศาสตร์
๑๑. สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
๑๒. สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
๑๓. สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล

๒. คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ
ระดับปริญญาตรี
๑. สาขาวิชาการจัดการ
๒. สาขาวิชาการจัดการการผลิต
๓. สาขาวิชาการเงิน
๔. สาขาวิชาการตลาด
๕. สาขาวิชาการบัญชี

ที่มา : หนังสือ "ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร" หน้า 12-14