การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นของวิวัฒนาการจากการจัดการศึกษาวิชาเกษตรของประเทศ ซึ่งเริ่มในระบบโรงเรียนวิชาชีพ ในสมัยเริ่มแรก อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะดังนี้

๑) ระยะต้น (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๕๖) เป็นระยะก่อตั้งระบบการศึกษาวิชาเกษตร ให้เป็นระบบโรงเรียนของไทย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหมในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับส่วนหม่อน และสถานีทดลองเลี้ยงไหม โดยจัดการศึกษาหลักสูตร ๒ ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ขยายหลักสูตรเป็น ๓ ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ เข้าในหลักสูตร ตลอดจนได้เริ่มสอนวิชา สัตวแพทย์ด้วย และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด ๓ โรงเรียนคือโรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุม พร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่ง ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒

   โรงเรียนเกษตราธิการ  ภาพจากหนังสือ  “รายงานการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ”  ร.ศ. ๑๒๙  และเอกสารถ่ายสำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่าด้วย  “โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ”  นำมาแสดงเฉพาะหน้าแรก  บอกให้ทราบว่าโรงเรียนเปิดสอนเมื่อวันที่  ๒๘  พฤศจิกายน  ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)  และตั้งอยู่ที่ “วังตำบลสระประทุมวัน”  พร้อมกับอธิบายวัตถุประสงค์ในการตั้งและภารกิจของโรงเรียนไว้หลายหน้า (ได้มาไม่ครบทั้งหมด)  นับเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งสถาบันการศึกษาด้านการเกษตรในประเทศไทย
  ส่วนวังตำบลสระปทุมวัน  คือ  “พระตำหนักวินด์เซอร์”  (บนซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเป็นที่ประทับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  ตั้งอยู่  ณ  บริเวณที่เป็นสนามกีฬาศุภชลาศัยในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ รัฐบาลได้ยกโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการไปรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวง เกษตราธิการตรงกับพระราชดำริในการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการงานการศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ จึงมาสังกัดกระทรวงธรรมการ

๒) ระยะกลาง (พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๔๖๖) เป็นการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถม-กสิกรรม เจ้าพระยาธรรศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดี กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง ณ บ้านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โรงเรียนนี้รับผู้จบชั้น ม.๓ (เปลี่ยนเป็น ม.๖ ในระยะต่อมา) เข้าศึกษาในหลักสูตร ๒ ปี เพื่อรับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมกสิกรรม (ปป.ก.) และในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่ตำบล พระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

๓) ระยะปลาย (พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๘๕) เป็นการขยายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปสู่ทุกภาค โดยได้ย้ายโรงเรียนจากตำบลพระประโทน จังหวัด นครปฐม ไปตั้งที่ตำบลบางสะพานใหญ่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นใหม่ อีกแห่งหนึ่งที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาการจัดการศึกษาวิชาเกษตรในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นั้น ได้ดำเนินการในรูปแบบของโรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม และโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมหลายแห่ง

โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ  เปิดเมื่อวันที่  ๒๘  พฤศจิกายน  รัตนโกสินทร์ศก  ๑๒๗  แลตั้งอยู่ที่วังตำบลสระประทุมวัน โรงเรียนก็มีน่าที่ฝึกหัดกุลบุตรไทยให้ได้เข้ารับราชการในกรมแผนที่กรมคลอง  แลกรมเภาะปลูก
	ต้นเหตุที่กระทรวงเกษตราธิการจะได้ดำริห์จัดการตั้งโรงเรียนของกระทรวงขึ้นนั้นมีหลายสถาน ตามประวัติแลวิธีที่กรมแผนที่ กรมคลอง แลกรมเภาะปลูก ได้จัดฝึกหัดคนเข้าทำการในกรมนั้นๆ ดังต่อไปนี้
	๑. การฝึกหัดทำแผนที่นั้นได้จัดมานานแล้วก่อนที่กรมแผนที่ได้ตั้งเปนกรมขึ้น คือเมื่อศก ๙๔ ได้มีพระบรมราชโองการให้เลือกคัดนายและพลทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์บางนาย ให้ฝึกหัดวิธีทำแผนที่ มีมิศเตอรอาลาบาสเตอร์เปนหัวหน้าผู้สั่งสอน การสั่งสอนนี้มีผลคือผู้ที่ได้ฝึกหัดนั้นได้ทำแผนที่กรุงเทพฯ หลายตำบล
	ครั้นต่อมาภายหลังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพซึ่งในขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กอยู่ ทรงพระดำริห์เห็นว่าควรจะตั้งกองแผนที่ให้เปนกรมขึ้น จึงได้ทรงตั้งให้มิศเตอร์แมคคาที (พระวิภาคภูวดล) มาเปนหัวหน้าจัดการฝึกหัดทหารมหาดเล็ก  … นาย ให้ทำแผนที่ ตั้งโรงเรียนขึ้นที่พระราชวังบางปอินเมื่อ ร.ศ. ๑๐๑ ภายหลังได้ย้ายมาตั้งที่กรุงเทพ นักเรียนชั้นนี้ได้ทำแผนที่พระบรมมหาราชวัง แลในท้องที่ตำบลสามเพ็งด้วย ในเวลานั้นเจ้าพนักงานแผนที่ …

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมตรวจกสิกรรมในกระทรวงเกษตราธิการ ทรงดำริว่าควรจัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมขึ้นที่ ภาคอีสาน ภาคใต้และภาคพายัพ พร้อมกับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เพื่อให้งานวิจัยการเกษตรดำเนินควบคู่ไปกับการให้การศึกษาในสาขา เกษตรศาสตร์ จังได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมกับสถานีทดลองกสิกรรมตามภาคต่าง ๆ มีผลให้กระทรวงเกษตราธิการจัดการศึกษาวิชา เกษตรศาสตร์ใหม่

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม แม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมคอหงษ์ ตำบลคอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

แนวคิดในการดำเนินงานสถานีทดลองกสิกรรมควบคู่กับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง ๓ แห่ง นับได้ว่าเป็นต้นแบบอย่างอันดียิ่งของการประสาน ระหว่างงานวิจัยทดลองและงานศึกษา หัวหน้าสถานีและอาจารย์ใหญ่ชุดแรก ได้แก่ หลวงอิงคศรีกสิการ (ที่โนนวัด) หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ที่คอหงส์) และพระช่วงศิลปการ (ที่แม่โจ้)

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นโยบายการศึกษาสาขาเกษตรศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือรัฐบาลในขณะนั้นเกรงว่าจะมีการผลิตครูเกษตรเกินความ ต้องการของประเทศ จึงมีดำริที่จะยุบโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง ๓ แห่ง หลวงอิงคศรีกสิการ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และพระช่วงเกษตร ศิลปการจึงได้ร่วมกันเสนอโครงการให้คงโรงเรียนฝักหัดครูประถมกสิกรรมที่แม่โจ้ พร้อมกับจัดตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นแทนซึ่งต่อมา ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย ชื่อ "วิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในกรมเกษตรและประมง ผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยได้แก่พระช่วงเกษตรศิลปการ

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพเฉพาะขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดแพร่ คือโรงเรียนป่าไม้ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตร ๒ ปี และ ได้โอนกิจการไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวนศาสตร์

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นในท้องที่ อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งวิทยาเขตหลักของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน และได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากแม่โจ้มาบางเขน มีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย เปิดสอนหลักสูตร ๓ ปี ในระดับอนุปริญญา โดยมี ๓ แผนก คือแผนกเกษตรศาสตร์กับแผนกสหกรณ์ ซึ่งเปิดสอนที่บางเขน (สำหรับนักศึกษาแผนก สหกรณ์ ชั้นปีที่ ๓ ต้องไปเรียนที่กรมสหกรณ์ ท่าเตียน เพื่อสะดวกในการอบรมวิชาภาคปฏิบัติ) และแผนกวนศาสตร์ซึ่งเปิดสอนที่โรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ (ต่อมาโรงเรียนวนศาสตร์ได้แยกดำเนินกิจการในลักษณะเดิมอีกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙)

ที่มา : หนังสือเรื่อง "๕0 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : กำเนิดและพัฒนาการ" หน้า ๓๒-๓๔