ประวัติความเป็นมา
ม.ล.ชูชาติ กำภู ได้พิจารณาเห็นว่า วิทยาเขตบางเขนในขณะนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าเกษตรกลาง บางเขน ซึ่งอยู่รวมกับหน่วยงานของกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ไม่อาจจะขยับขยายเพิ่มต่อไปได้ และนับวันจะลดน้อยลง เพราะความจำเป็นในการใช้พื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง เกษตรฯ ย่อมจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ตึกที่ทำการของมหาวิทยาลัย อาคารเรียน แปลงทดลองของนิสิตและอาจารย์ ก็อยู่กระจัดกระจายปะปนกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีขอบเขตแบ่งแยกอย่างแน่ชัด บริเวณเกษตรกลาง ขณะนั้นมีเนื้อที่ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ แต่เป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพียง ๔๐๐ ไร่ และกระทรวงเกษตรฯ อนุญาตให้ใช้ที่ดินของกระทรวง เกษตรฯ อีก ๔๐๐ ไร่ รวมเป็น ๘๐๐ ไร่ ซึ่งพอเพียงสำหรับนิสิตไม่เกิน ๓,๐๐๐ คนเท่านั้น (นิสิตใน พ.ศ. ๒๕๐๙ มีจำนวน ๒,๔๖๗ คน) ประกอบกับ ชุมชนโดยรอบเกษตรกลาง บางเขน ได้ขยายตัวเปลี่ยนสภาพจากชุมชนชนบทมาเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จึงไม่เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของ สถานศึกษา ตามแผนการขยายงานที่ได้วางแผนไว้แล้ว ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงได้มีการดำริที่จะมองหาที่ดินผืนใหม่ขนาดใหญ่ที่เหมาะสมในการรองรับ การขยายตัวของมหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เห็นชอบให้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มาทำการศึกษาและ ให้คำแนะนำในการนี้ โดยมีมติเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ คณะผู้เชี่ยวชาญได้เข้ามาปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๐๙ และได้สรุปรายงานเสนอต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าถ้าหากจะขยายการรับนิสิตให้เป็น ๕,๐๐๐ คน ในระยะ ๕ ปี (๒๕๐๑-๒๕๑๕) และขยายเป็น ๑๐,๐๐๐ คน ใน ๑๐ ปีข้างหน้า (พ.ศ. ๒๕๐๒) จะต้องซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเกษตรกลางเพิ่มอีกอย่างน้อย ๔,๐๐๐ ไร่ แต่ถ้าหาก จะให้ดีควรย้ายไปนอกชานพระนครบริเวณที่เป็นดินเหนียวใหม่ มีเนื้อที่อย่างน้อย ๘,๐๐๐ ไร่ และควรรีบดำเนินการโดยเร็ว เพราะจะเป็นการประหยัด และทำได้ไม่ลำบากนัก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พิจารณาข้อดีข้อเสีย จากข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแล้ว จึงได้พิจารณาหาที่ดินหลายแห่ง เช่นที่สระบุรี ที่ศรีราชา ซึ่งเป็นไร่ฝึกนิสิตและที่กำแพงแสนจนได้ผลสรุปว่า ควรซื้อที่ดินที่กำแพงแสนเพราะดินดีได้เป็นผืนใหญ่ผืนเดียว ส่วนที่ดิน แหล่งอื่น เช่น ไร่สุวรรณ (เนื้อที่ ๒,๐๐๐ ไร่) รัฐบาลก็ทำสัญญากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ให้จัดตั้งศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างไปแล้ว ส่วนที่ทับกวาง ปากช่อง และศรีราชา มีเนื้อที่น้อยไปจะซื้อเพิ่มเติมก็มีราคาแพง ที่ดินที่กำแพงแสนที่หมายตาไว้มีลักษณะที่เหมาะสมหลายอย่างเช่น ดินดี ในอนาคต จะได้รับน้ำพอเพียงจากคลองซึ่งขุดมาจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ที่ดินแปลงนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐ ก.ม. ห่างจาก ตัวเมืองนครปฐมเพียง ๒๐ ก.ม. นอกจากนี้ที่ดินแปลงนี้มีบ้านเรือนราษฎรอยู่น้อย ประมาณ ๑๓๑ หลัง ราคาซื้อขายขณะนั้นไร่ละ ๑,๐๐๐-๒,๕๐๐ บาท แถบถนนมาลัยแมน งบประมาณที่จะใช้สำหรับเนื้อที่ ๘,๐๐๐ ไร่ ประมาณไม่เกิน ๑๖ ล้านบาทเท่านั้น และขณะนั้นมหาวิทยาลัยฯ มีเงินซื้อที่ดิน อยู่แล้ว ๙ ล้านบาท นอกจากนี้งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ ก็ยังมีงบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างอีก ๑๓ ล้านบาท น่าจะดำเนินได้ จึงเสนอเรื่องต่อ คณะรัฐมนตรีเสนอแผนการซื้อที่ดินที่กำแพงแสนและการพัฒนาที่บางเขนไปพร้อมกัน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการได้ในคราวประชุม ค.ร.ม. เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๐๙ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เข้ามาร่วมทำการ ปรับปรุงขยายงานของมหาวิทยาลัย และได้จ้างบริษัท Donald Wolbrink & Associate, Inc. ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านวางแผนการสร้างมหาวิทยาลัย มาทำการเสนอ Master Plan และ Feasibility Report ให้กับมหาวิทยาลัย การจัดซื้อที่ดินที่กำแพงแสนได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัย ม.ล. ชูชาติ กำภู เป็นอธิการบดี (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐) สมัยศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ (พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๒) และสมัย ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๗) โดยเริ่มตั้งแต่รัฐบาลได้มีการออกพระราช กฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในท้องที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๔ ตอนที่ ๑๘ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี (จอมพลถนอม กิตติขจร) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินเพื่อขยายงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / ตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๗๙/๒๕๐๙ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๙ โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นประธานและกรรมการอีก ๘ ท่าน เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ รัฐบาลในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณ ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อประโยชน์ในการขยายงานด้านการศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ดินดังกล่าว นี้มีเนื้อที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่ และอยู่ในแนวเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา เพื่อประโยชน์ในการชลประทานโครงการแม่กลองใหญ่ ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ขอให้กรมชลประทานเพิกถอนการใช้เขตที่ดินในบริเวณนี้ กรมชลประทานไม่ขัดข้อง และเมื่อ กรมชลประทานได้เพิกถอนแล้ว จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นแทน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจที่ดินที่จะใช้ในการนี้ ม.ล. ชูชาติ กำภู อธิการบดี ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานอยู่ด้วย จึงได้มีคำสั่งให้กองจัดซื้อที่ดิน กรมชลประทานเข้าทำการสำรวจรังวัดและดำเนินการ จัดซื้อร่วมกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางผังแม่บทแล้ว ก็ยังสามารถผลักดันให้ผู้ที่บุกรุกและครอบครองพื้นที่ ของ มหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้การอำนวยการ ของคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น การจัดซื้อที่ดินได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔ ได้จัดซื้อที่ดินได้ทั้งหมดกว่า ๙๐% คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๗,๔๒๕ ไร่เศษ การจัดซื้อที่ดินเริ่มได้รับอุปสรรค ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพราะเจ้าของที่ดิน บางรายไม่ยินยอมขายที่ดินให้แก่ทางราชการ ยังคงเหลือที่ดินอีกเพียง ๔๑ แปลง มีเจ้าของที่ดิน ๑๙ ราย เนื้อที่ ๗๕๐ ไร่เศษ ที่มหาวิทยาลัยฯ ไม่ สามารถจัดซื้อต่อไปได้ โดยที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนฯ จะหมดอายุลงในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๕๑๕ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ขอให้ทางรัฐบาล ตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขึ้น รัฐบาลจึงได้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๔ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึงแม้จะมีที่ดินเหลืออีกเพียงไม่ถึง ๑๐% ในจำนวนเจ้าของที่ ๑๙ ราย แต่การจัดซื้อตามพระราชบัญญัติเวนคืนก็หาได้ดำเนินไปโดยราบรื่นไม่
ความล่าช้าในการจัดซื้อเกิดจากการไม่สามารถจะตกลงเรื่องค่าทดแทนในระดับอนุญาโตตุลาการได้
จึงต้องดำเนินการทางศาล การดำเนินการ ทางศาลต้องใช้เวลาอยู่มาก
หลักสูตรระดับบัณฑิต (ปริญญาตรี) หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาเอก) |
||