ชื่อสกุลของนนทรี (Peltophorum) นั้นได้มาจากภาษากรีก หมายถึง (Sheld-bearing) ซึ่งหมายถึง ฝักของมันมีรูปทรงเหมือนโล่ ส่วนชื่อพ้องของนนทรีอีกชื่อคือ P" ferrugineum นั้นหมายถึงมีฝักเป็นสีสนิมเหล็ก นับว่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อเสียงมีความหมายชัดเจนที่สุด ชนิดหนึ่งภายใต้สภาพธรรมชาติของป่าเขา ต้นนนทรีจะผลัดใบทิ้งลงเป็นบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมดต้นทีเดียว ดังนั้นเราจึงอาจเรียกนนทรีได้ว่าเป็นไม้กิ่งผลัดใบน่าจะเหมาะสมกว่าเป็นไม้ผลัดใบแห้ง ลำต้นของมันแข็งแรง เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ดูงดงาม ชูกิ่งก้านสาขาแผ่เรือนยอดสู่เบื้องบน ใบของมันประกอบด้วยใบย่อยขนาดเล็กมากมาย ดูเผิน ๆ คล้ายใบเฟินบางชนิด อย่างที่เรียกกันว่ามีใบประกอบแบบขนนก ๒ ชั้น ยามเช้าฤดูหนาวเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นใบนนทรีกันสักเท่าใดนัก เพราะมันจะร่วงลงมามาก ใบอ่อนจะแตกออกมาในช่วงเดือนมีนาคม พร้อมทั้งออกดอกสีเหลืองทองอร่ามไปทั้งต้น ใบของนนทรีดูเผิน ๆ คล้ายใบต้นหางนกยูงหรือกระถิน แต่ใบย่อยจะมีขนาดใหญ่กว่า และเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อเล็กหรือใหญ่ต่างขนาดกันไป ก้านช่อดอกมีสีน้ำตาลเคลือบสีสนิมเหล็กปกคลุม เช่นเดียวกับกลีบหุ้มดอกชั้นนอก กลีบดอกภายในสีเหลืองสดงดงามตา

ดอกนนทรีนั้นมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เกิดเป็นช่อกลุ่มใหญ่ที่ปลายกิ่ง แต่ดอกงดงามนั้นมีอายุอยู่บนต้นได้ไม่นานนักก็จะร่วงลงมากองอยู่ที่พื้นโคนต้น ดูเหลืองไปทั้งบริเวณเหมือนปูพรมธรรมชาติเพื่อประดับราวป่า ให้มีชีวิตชีวา ช่อดอกนนทรีชนิดที่เราคุ้นตาและปลูกเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้มีช่อดอกใหญ่ยาวและตั้งตรง ก้านดอกย้อยสั้น

หลังจากดอกร่วงไปหมดแล้ว เราจะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่าที่ปลายกิ่งนนทรีปรากฏการพัฒนาตัวของฝักซึ่งจะขยายตัวใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งต้นดูราวประดับด้วยโล่สีสนิมเหล็กกล้าเป็นมัน งดงามแกร่งกล้าไปอีกแบบ ในช่วงนี้ต้นนนทรีดูเกือบจะไม่มีใบเอาเสียเลย ฝักนนทรีจะติดคาต้นอยู่จนถึงฤดูฝนจนกว่าจะเปราะหลุดออกจากต้นไป ฝรั่งนิยมเรียกฝักนนทรีว่า copper shield pods ด้วยเหตุนี้เอง


ไม้ยืนต้นในสกุลนนทรีและชื่อว่านนทรีอีกชนิดหนึ่งมีชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Peltophorum dasyrachis จัดเป็นไม้ยืนต้นที่พบทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนื่องจากโตเร็วกว่านนทรี (P. inerme) และเป็นพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน เขาจึงตัดกิ่งใหญ่ ๆ ปักขยายลงดินใช้เป็นไม้บังร่มให้กาแฟหรือเป็นไม้ร่มคาคือปลูกคลุมดินปราบหญ้าคา ว่ากันว่านนทรีชนิดนี้โตเร็วสูงถึง ๒๐ ฟุต ในเวลาเพียง ๒ ปีเท่านั้น และเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นใหญ่ถึง ๒ นิ้ว นนทรีชนิดนี้มีช่อดอกสั้นกว่านนทรี P. inerme และช่อดอกมักเกิดห้อยหัวลง ก้านดอกยาว และว่ากันว่านนทรีชนิดนี้ไม่สู้จะทนแล้งทนลมนัก ไม่เหมือนนนทรีทั่วไปที่เราปลูกเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน นนทรีนั้นเป็นต้นไม้พื้นเมืองของไทย อินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย หากได้รับการตัดแต่งกิ่งดูแลให้ตามควรแล้วจะเป็นต้นไม้ที่ให้ดอกสวยงามมากจนมีผู้นำไปปลูกประดับทั้งในสวนและตามริมถนนใหญ่หลายสาย ให้ทั้งร่มเงาและให้ทั้งความสวยงามของดอก หลายคนมีความเห็นว่านนทรีนั้นมีระบบรากหยั่งลึกลงไปค่อนข้างจะตรง ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหากับถนนหรือฟุตบาทเท่าใดนัก ผู้ใดที่อยากเห็นนนทรีนับเป็นร้อย ๆ ต้นได้รับการปลูกประดับสองข้างถนนอย่างสวยงาม ให้ความร่มรื่น และยามเขียวขจีในยามหน้าร้อนก็ลองขับรถไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม นนทรีที่นั่นแทบทุกต้นปลูกไว้โดยฝีมือของอาจารย์สุขุม ลิมังกูร อาจารย์ภาควิชาพืชสวน ซึ่งปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว นนทรีนั้นหากดูผิวเผินก็เป็นไม้ที่มีประโยชน์ไม่มากมายกว้างขวางเหมือนไม้ยืนต้นเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาด้านความทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ ความร้อนระอุของพื้นผิวถนนและท้องทุ่งนาป่าเขา นนทรีกลับกลายเป็นของมีค่าอย่างเหลือคณานับ ต้นนนทรีนี้ส่งรากลึกลงไปดูดเอาน้ำจาก ระดับใต้ดินลึกขึ้นมา ทั้งปลดปล่อยโดยการระเหยและคายเอาไอน้ำออกไปทางปากใบจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นเยือกเย็นแก่ผู้คนหรือสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาปริมณฑลของมันโดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทน นนทรียังยอมเสียสละกิ่งก้านสาขามันเพื่อให้มนุษย์ใช้เป็นเชื้อฟืนให้พลังงานความร้อนจำนวนมหาศาล นนทรีนั้นเป็นของคู่กับหางนกยูงฝรั่ง สีเหลืองละออของนนทรีตัดกับสีส้มอมแดงแปร๊ดแสบตาของหางนกยูงฝรั่ง ทั้งคู่แม้จะเกิดมาคนละดินแดนแคว้นถิ่นแต่ก็มาอาศัยอยู่ด้วยกันได้ในเมืองไทยอย่างเหมาะสม โดยมีความทนทรหดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนัก คนอินเดียที่เป็นชาวชนบทจะรักต้นไม้ยืนต้นเป็นยิ่งนัก และรัฐบาลโดยเฉพาะกรมป่าไม้และกรมทางหลวงของเขาก็มีสมองและสายตาไกลที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ให้มากมายหลายต่อหลายแถวสลับกัน จนดูเป็นป่าละเมาะตลอด สองเส้นทางไฮเวย์ตามชนบทนับพันกิโลเมตร ทุกวันเราจะเห็นชาวบ้านป่าผู้ยากจน ปราศจากเงินตราซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูง ออกหักกิ่งเก็บกิ่งไม้แห้งจากไม้ยืนต้นหลายต่อหลายชนิดเป็นฟ่อนใหญ่ นำกลับไปเป็นพลังงาน ให้ความร้อนต่อต้านความหนาวยามค่ำคืนที่จะมาเยือน รวมทั้งใช้หุงต้มประกอบอาหาร นี่เป็นแหล่งพลังงานที่ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ด้วย

ต้นนนทรี (Peltophorum dasyrachis) นั้น เมื่อต้นมีขนาดใหญ่ อายุมากได้รับการโค่นล้มลง เนื้อไม้สามารถเลื่อยนำไปประกอบเป็นพื้น และฝาบ้านได้เป็นอย่างดีได้รับการยืนยันไว้ในหนังสือเรื่องไม้และของป่าของไทย พ.ศ. ๒๔๙๑ ว่าใช้เป็นเครื่องเรือน เครื่องมือเกษตร และไม้บุผนังที่สวยงามได้เช่นเดียวกับประดู่ พยุง และมะค่าโมงที่คนไทยรู้จักกันดีนั่นเอง

ประโยชน์อย่างหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครคิดถึงนั้นก็คือเปลือก เปลือกต้นนนทรีนั้น เมื่อนำไปต้มแล้วจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง ใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกในเกาะชวา อินโดนีเซีย นอกจากนี้เปลือกนนทรียังมีขายกันในร้านสมุนไพรในเกาะชวาด้วย เพราะเป็นแหล่งที่มาของแทนนิน ใช้รักษาโรคท้องร่วง หรือนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมันนวดแก้ตะคริว กล้ามเนื้ออักเสบ จากความจริงหรือสัจธรรมอันเป็นความดีงามซึ่งซ่อนตัวอยู่ในรูปร่างหน้าตาที่มีแต่สีเขียวขรึมเป็นพื้นของนนทรีอยู่นี้ ผู้เขียนหวังว่าคงจะช่วยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในรั่วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มองนนทรีด้วยความรักและเข้าใจได้มากขึ้นกว่าเดิม

"เมื่อใดที่คนไทยเรารักที่จะปลูกต้นไม้โดยปราศจากพิธีการ หรือโอกาส โดยถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องปลูก ไม่ใช่ปลูกต้นไม้โดยการเอาหน้า หรือเพื่อให้ดูสมกับที่เป็นนักอนุรักษ์ด้วยคนหนึ่งแล้ว เมื่อนั้นแหละที่เมืองไทยจะกลับมีป่าฟื้นคืนกลับมาได้อีกครั้ง"


ที่มา : ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : เหลียวดูหลัง แลไปข้างหน้า