ศาลาหกเหลี่ยมหลังเดิม

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงพื้นที่เกษตรกลางบางเขน ราว พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๐๑
(ภาพและข้อมูลจาก ศ. บุญธรรม จิตต์อนันต์)

ศาลาหกเหลี่ยมหลังเดิมเป็นอาคารโปร่ง ชั้นเดียว ทรงหกเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลางราว ๕ เมตร สร้างด้วยไม้ ทาสีขาว หลังคามุงกระเบื้อง หลังคาส่วนที่เป็นหกเหลี่ยมยกขึ้น ชนิดหนึ่งคลุมช้อนหลังคาชั้นล่างเพื่อช่วยระบายอากาศ พื้นยกขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ ครึ่งเมตร ระหว่างเสาทำเป็นม้านั่ง เว้นช่องไว้ช่องหนึ่งให้เดินขึ้น-ลงได้ ต่อเคาน์เตอร์-เก้าอี้ สำหรับเจ้าหน้าที่นั่งทำงาน ด้านล่าง โดยรอบส่วนที่ยกพื้นเป็นชายกว้างราว ๒ เมตร มีชายคา ต่อยื่นออกมาคลุม มีไม้ระแนงตีเป็นตารางตอนบนใต้ชายคา ปลูกพรรณไม้เลื้อยตาม เสาให้พาดพันขึ้นทอดกิ่งก้านคลุมหลังคาเพื่อความร่มรื่นสวยงาม
(รายละเอียดของเครื่องใช้และการตกแต่งอาจแตกต่างไปบ้างตามแต่ความประสงค์ของผู้ใช้งานแต่ละรุ่น)

หอประชุมเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ที่มุมขวาล่างของภาพเห็นศาลาหกเหลี่ยมลักษณะใกล้เคียงกับที่เห็นในภาพถ่ายทางอากาศภาพแรก

ศาลาหลังนี้แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง กรมประมง สร้างไว้ก่อนปี พ.ศ. ๑๔๙๒ สมัย นายปรีดา กรรณสูต เป็นหัวหน้าแผนก (๒๔๙๐-๒๔๙๒) และนายบุญ อินทรัมพรรย์ เป็นอธิบดี (๒๔๘๗-๒๕๐๔) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับประชาชนมาติดต่อขอซื้อพันธุ์ปลาได้สะดวก เพราะ แต่ก่อนพื้นที่ด้านติดถนนพหลโยธินซึ่งเป็นที่ทำการของแผนกทดลองฯ มองเข้ามาเห็นแต่บ่อปลาเต็มไปหมด อาคารตั้งอยู่ไกลเข้าไปด้านใน จึงเป็นการยากที่ประชาชนจะเข้าไปพบเจ้าหน้าที่

ศาลาหกเหลี่ยมทำหน้าที่เป็นเรือนต้อนรับลูกค้าของแผนกทดลองฯ อยู่นานหลายปีก่อนจะกลาย มาเป็นที่พำนักพักผ่อนของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในยุคที่รถยนต์โดยสารสาธารณะยังมี บริการด้านถนนพหลโยธินเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังจากที่มีการสร้างประตูทางเข้าใหม่ตรงหน้าสระน้ำ หน้าหอประชุมใหญ่แล้ว (หอประชุมสร้างเสร็จ พ.ศ. ๒๕๐๐) เมื่อจะกลับบ้านหรือ ออกจากมหาวิทยาลัย ก็จะขี่จักรยานออกมาจอดไว้ที่ศาลาหกเหลี่ยม เข้านั่งพักรอเพื่อนรอรถก่อนได้ เมื่อเวลาผ่านไป ประชากรเกษตรเพิ่มจำนวนขึ้น จักรยานซึ่งเป็นยานพาหนะจำเป็นของชาวเกษตรที่มาจอดที่ศาลา หกเหลี่ยมก็หนาแน่นขึ้นทุกที

ในสมัยที่ท่านศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ เป็นอธิการบดี ได้มีการต่อเติมชายคาศาลาหกเหลี่ยมออกไป กั้นผนังโดยรอบเพิ่ม ความปลอดภัยให้แก่รถจักรยานไม่ให้ต้องกรำแดดกรำฝนและเสี่ยงต่อการถูกขโมย และเมื่อมีจักรยาน ก็ย่อมต้องมีบริการซ่อมรถจักรยาน อยู่คู่กันให้ครบวงจร ศาลาหกเหลี่ยมจึงเป็นขวัญใจชาวเกษตรยุคจักรยานเพื่องฟูอยู่เป็นเวลานานนับสิบ ๆ ปี ก่อนที่จะหมดสภาพไปตามกาลและถูกรื้อถอนลงเมื่อราว ๑๓-๑๔ ปีก่อน (ราวพ.ศ. ๒๕๒๘)

เพื่อความเข้าใจของคนรุ่นหลังเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารสถานที่ ต้องขออนุญาตทบทวนว่าแรกเริ่มเดิมทีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีฐานะเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงเกษตร (เรียกชื่ออย่างสมัยนั้น) และพื้นที่เกษตรกลางบางเขนเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกรมกองต่าง ๆ แม้แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงกรมประมงจะเป็นผู้ใช้พื้นที่ส่วนหน้าที่ติดถนนพหลโยธิน และพื้นที่เพื่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยจะอยู่ด้าน ในเข้าไปตามแนวขนานกับถนนงามวงศ์วานก็ตาม นิสิตคณะประมงก็ต้องมาเรียนและฝึกปฏิบัติวิชาเพาะเลี้ยงและสร้างบ่อที่แผนกทดลองฯ ของกรมประมง ซึ่งอยู่ห่างจากตึกอำนวยการของมหาวิทยาลัยเกือบ ๑ กิโลเมตร ครูบาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยในยุคแรก ก็คือนักวิชาการที่รับราชการตามกรมกองของกระทรวง สัมพันธภาพระหว่างมหาวิทยาลัยกับกรมกองอื่น ๆ ในกระทรวงเกษตรด้วยกันจึงเป็นสัมพันธภาพระหว่างพี่น้อง เครือญาติที่ พึ่งพาอาศัย เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอย่างยิ่งมาแต่เก่าก่อน จนแม้ภายหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะไม่สังกัดกระทรวงเกษตรอีกต่อไป แล้วก็ตาม

ศาลาหกเหลี่ยมหลังใหม่

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดย ศ. ดร. ธีระ สูตะบุตร อธิการบดี ได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นหลังหนึ่งบนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้ง ศาลาหกเหลี่ยม โดยประสงค์จะให้มีสถานที่สักแห่งหนึ่ง ที่จะชวนเชิญชาวเกษตรกลางบางเขนให้ได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณนี้ ได้แก่ วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพร้อมด้วยพระอนุชา เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเกษตรกลางบางเขน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ทรงปล่อยปลาหมอเทศ ณ บ่อปลาของแผนก ทดลองและเพาะเลี้ยง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นอาทิ

พื้นที่ที่อยู่ในความดูแลร่วมกันของชาวเกษตรกลางบางเขน ที่เรียกกันว่าพื้นที่สามเหลี่ยน กินบริเวณตั้งแต่ประตูพหลโยธิน ๑ สระน้ำ หอประชุม ใหม่จรดประตูงามวงศ์วาน ๑ นับรวมเอาพื้นที่ที่เคยมีศาลาหกเหลี่ยมอยู่เข้าไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมที่จะสร้างอาคารเพื่อการนี้ ณ พื้นที่นี้ ศาลาหกเหลี่ยมเองก็มีความหลังเกี่ยวเนื่องกับทั้งมหาวิทยาลัยและกรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ กับทั้งหลังจากได้พิจารณาขนาด พื้นที่แล้วมหาวิทยาลัยฯ จึงเห็นสมควรให้อาคารหลังใหม่ที่จะสร้างมีรูปทรงและชื่อเสียงเรียงนามพ้องกันกับอาคารหลังเดิม

คณะทำงานออกแบบทั้งหมดเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยมี รศ.ดร. เอกรินทร์ อนุกูลยุทธธน หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นสถาปนิกส่วนผู้ออกแบบตกแต่งภายในเป็นมัณฑนากรอาชีพ ชื่อนายชุติวิทย์ ชูทวี

มีอะไรในศาลาหกเหลี่ยมหลังใหม่

ภายในอาคารศาลาหกเหลี่ยม แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน บนส่วนกลางซึ่งยกพื้นสูงขึ้น มหาวิทยาลัยกำหนดให้จัดแสดงนิทรรศการถาวรแสดงภาพเหตุการณ์ อันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ชาวเกษตร อันเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากยกพื้นเป็นรูปหกเหลี่ยมมัณฑนากร จึงได้ออกแบบเครื่องจัดนิทรรศการให้ล้อกันเป็น ๖ ด้าน คณะทำงานพิธีเปิดเห็นพ้องต้องกันให้แสดงภาพเหตุการณ์เด่น ๆ คือ การเสด็จฯ เกษตรกลาง บางเขนครั้งแรกพร้อมพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ การเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๓ การเสด็จฯ เปิดงานวันเกษตรครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๖ การทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ปริญญาแรก พ.ศ. ๒๔๙๖ การเสด็จฯ ทรงปล่อยปลาหมอเทศที่บ่อเลี้ยง แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง ของกรมประมง พ.ศ. ๒๔๙๖ การเสด็จฯ ทรงปลูกต้นนนทรี ๙ ต้น พ.ศ. ๒๕๐๖ และการเสด็จฯ ทรงดนตรีครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งมีทั้งหมด ๗ เหตุการณ์ แต่เนื่องจากภาพพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งต้นที่สุดที่พบคือภาพเมื่อปี ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นปี เดียวกันกับที่ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ปริญญาแรก จึงทำให้ภาพเหตุการณ์ลงตัวกับจำนวนด้านของเครื่องจัดนิทรรศการหลักพอดี

พื้นที่ส่วนล่างโดยรอบ ในระยะยาวมหาวิทยาลัยกำหนดให้ใช้จัดนิทรรศการหมุนเวียน เสนอผลงานวิจัย หรือเรื่องราวอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ซึ่ง สถาบันวิจัยและพัฒนา มก. รับที่จะดูแลต่อไป ทั้งนี้สามารถจัดให้ผู้ชมชมได้จากภายนอกอาคารเพราะสถาปนิกได้เตรียมการไว้ในการออกแบบให้ผนังเป็น แผ่นกระจกใส ขนาดกว้างมองเห็นนิทรรศการได้เต็มตาอยู่แล้ว


ที่มา : สมุดภาพประวัติศาสตร์ชาวเกษตร เรื่อง "ศาลาหกเหลี่ยม"